ผลวิจัยชี้ฝุ่น PM2.5 รุนแรงสุดในเอเชีย-แอฟริกา ทำอายุขัยประชากรลดลง

สถาบันนโยบายพลังงาน (EPIC) ของมหาวิทยาลัยชิคาโกในสหรัฐเผยแพร่รายงานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQLI) ประจำปี 2566 ในวันนี้ (29 ธ.ค.) ระบุว่า แม้ว่ามลพิษทางอากาศในจีนได้รับการปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้น แต่มลพิษทางอากาศทั่วโลกยังคงเป็นความเสี่ยงภายนอกที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแอฟริกา

รายงานระบุว่า ประมาณ 3 ใน 4 ของผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศกระจุกตัวอยู่ที่เพียง 6 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน จีน ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย

รายงานคาดการณ์ว่า หากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตราย มีปริมาณลดลงสู่ระดับที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว อายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2.3 ปี ซึ่งจะช่วยรักษาอายุขัยรวมกันได้ 1.78 หมื่นล้านปี

ระดับมลพิษโดยเฉลี่ยทั่วโลกที่ลดลงเล็กน้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น เกือบทั้งหมดได้แรงหนุนจากจีน ซึ่งประกาศทำ “สงครามกับมลพิษ” เป็นระยะเวลา 10 ปี ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 ลดลงมากกว่า 40% นับตั้งแต่ปี 2556

“แม้ว่าจีนประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในการทำสงครามกับมลพิษทางอากาศ แต่แนวโน้มในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม”

นางคริสตา ฮาเซนคอปฟ์ ผู้อำนวยการของ AQLI กล่าว

นางฮาเซนคอปฟ์กล่าวอีกว่า ฝุ่น PM2.5 ในเอเชียใต้เพิ่มขึ้นเกือบ 10% นับตั้งแต่ปี 2556 ส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในภูมิภาคลดลงประมาณ 5 ปี นอกจากนี้ การใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกยังส่งผลให้มลพิษจากฝุ่นละอองกลายเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เทียบเท่าได้กับโรคเอชไอวี หรือโรคเอดส์ และโรคมาลาเรีย

ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทุกพื้นที่ถูกพิจารณาว่ามี “ระดับมลพิษที่ไม่ปลอดภัย” ส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรลดลง 2-3 ปี

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top