นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) มองว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากหลายปัจจัยสนับสนุน อาทิ การที่เศรษฐกิจมีความทนทานต่อดอกเบี้ยสูงได้ดีกว่าที่คาด นักวิเคราะห์มีการทยอยปรับประมาณการกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อซึ่งน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว ถึงแม้การลดลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง แต่ก็จะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่จะเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ (Soft Landing) ก่อนที่ธนาคารกลางจะทำการลดอัตราดอกเบี้ยในประมาณกลางปีหน้า แต่ก็ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ เรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้กำแพงภาษี การย้ายฐานการผลิตเพื่อลดปัญหาอุปทานขาดแคลนจากการกีดกันทางการค้า รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ทาง KTAM จึงได้แนะนำ 4 กองทุนที่น่าสนใจ และสามารถสร้างโอกาสเติบโตได้จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ ประกอบด้วย กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ พลัส (KTFIXPLUS) (ระดับความเสี่ยง 4) จากการที่คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใกล้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ปัจจุบันดอกเบี้ยรับอยู่ในระดับที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน สินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยกองทุนนี้เน้นลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับตราสารแห่งหนี้ และ/หรือเงินฝาก และ/หรือลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผล โดยวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด โดยกองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
กองทุนเปิดกรุงไทย บุญตรง ธรรมาภิบาลไทย (KTBTHAICG) (ระดับความเสี่ยง 6) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ/หรือตลาดรองอื่นใดที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการคัดสรรหลักทรัพย์ที่มีธรรมาภิบาลที่ดีเข้าสู่รายชื่อที่สามารถลงทุนได้ โดยใช้ข้อมูลจากทั้งแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (CAC) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) รวมถึงข้อมูลการวิเคราะห์จาก KTAM เพื่อประกอบการประเมินและคัดเลือกหลักทรัพย์ โดยในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเผชิญประเด็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาล (CG) อยู่หลายครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนให้ความสนใจประเด็นด้าน CG ขึ้น ส่งผลให้หุ้นที่มีประเด็นด้านนี้อาจดำเนินธุรกิจได้ยากขึ้น ขาดความเชื่อมั่นของลูกค้าหรือคู่ค้า หรืออาจมี Cost of fund ที่สูงขึ้น ดังนั้นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มี CG ที่ดีจะมีความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ และตลาดจะให้ Premium มากขึ้น
กองทุนเปิดเคแทม เวียดนาม อิควิตี้ (KT-VIETNAM) (ระดับความเสี่ยง 6) เน้นลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และ/หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลักหรือมีรายได้หลักจากการดำเนินธุรกิจ และ/หรือหุ้นอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้อง และ/หรือที่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และ/หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ทั้งนี้ มองว่าสถานการณ์การลงทุนในประเทศเวียดนามเริ่มคลี่คลาย หลังจากประเด็นการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง รวมถึงการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือหลายทาง นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากธีมการย้ายฐานการผลิต จากธีม Deglobalization, สงครามการค้า หรือจากกระแสลดการพึ่งพาผู้ผลิตจากจีน (De-risking) หลังประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน และรัสเซีย ต่างสร้างแรงกดดันต่อกันมากขึ้น รวมถึงศักยภาพการเติบโตอย่างโดดเด่นในระดับแถวหน้าของภูมิภาคและของโลก ด้วยความได้เปรียบด้านโครงสร้างประชากรวัยทำงาน ค่าแรงยังไม่สูงทำให้ต้นทุนการผลิตมีราคาถูก
และกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เฮลธ์แคร์ ฟันด์ (KT-HEALTHCARE) (ระดับความเสี่ยง 7) ลงทุนใน Janus Henderson Global Life Sciences Fund (กองทุนหลัก) โดยเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์กับการดำเนินชีวิตซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยหุ้นกลุ่ม Health Care ค่อนข้างทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจ มีปัจจัยขับเคลื่อนระยะยาวจากหลายปัจจัย อาทิ กลุ่มสังคมสูงอายุ การขยายตัวของคนชั้นกลางในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เทคโนโลยีที่สนับสนุนการคิดค้นวิธีรักษาใหม่ๆ และการควบรวมกิจการ นอกจากนี้ ราคาหุ้นกลุ่มสุขภาพยังคงน่าดึงดูดเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งวิ่งนำไปไกลด้วยกระแสปัญญาประดิษฐ์ (AI) จนหลายตัวอาจจะแพงเกินมูลค่าแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 66)
Tags: KTAM, กองทุนรวม, ชวินดา หาญรัตนกูล, บลจ.กรุงไทย