สภาพัฒน์ จับตาหนี้เสียเพิ่มในกลุ่ม Gen Y-ผู้สูงอายุ เร่งปลูกฝังวินัยการเงินทุกช่วงวัย

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง และกระทบต่อการจ้างงาน และระดับรายได้ของครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่อง และมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในปี 64 เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติกาลที่ 94.7% ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมการก่อหนี้ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการแก้ไขได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด ซึ่งข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดของลูกหนี้ และการรายงานมูลค่าหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SML) และหนี้เสีย (NPL) ความครอบคลุมทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาส 1/66 มีมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท และมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี โดยเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการก่อหนี้ และการชำระหนี้จำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า

  • กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งมีการกู้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

ขณะที่พฤติกรรมการชำระหนี้ พบว่า กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด-19 โดยมีมูลค่า NPL ในปี 65 สูงกว่าปี 62 ทั้งที่ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่รายได้อาจยังไม่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดรถ เนื่องจากมีสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอายุอื่น รวมทั้งกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี ยังมีหนี้เสียในสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในระดับสูงอีกด้วย

  • พฤติกรรมการก่อหนี้ของกลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี พบว่า ช่วงโควิด-19 มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วย หนี้เพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร หนี้เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และหนี้ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ โดยหนี้ประเภทนี้กลุ่มอายุ 50-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้คิดเป็นมูลค่าสูงที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการชำระหนี้ ยังพบว่า หลังโควิด-19 กลุ่มอายุ 50-59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากปี 62

น.ส.วรวรรณ กล่าวว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า

1. ยังมีหนี้จำนวนมากที่ไม่เข้าสู่ระบบข้อมูล NCB ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะหนี้สิน และรายได้สุทธิหลังหักภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การกู้ยืมเกินศักยภาพในการชำระคืนของลูกหนี้

2. การแก้ไขปัญหาหนี้เสีย ต้องให้ความสำคัญกับหนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของ NCB ในปี 65 สูงถึง 7.6% แต่หากพิจารณาหนี้เสียที่เกิดจากเฉพาะธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) พบว่า มีสัดส่วนดังกล่าวเพียง 2.6% ซึ่งน้อยกว่าเกือบ 3 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า ลูกหนี้ที่มีปัญหา เป็นลูกหนี้ที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์

3. กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มวัยแรงงานตอนต้น และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยกลุ่มวัยแรงงานตอนต้นหรือกลุ่ม Gen Y มีพฤติกรรมใช้จ่ายไปกับทัศนคติว่า “ของมันต้องมี” ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า มีหนี้เสียมีการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทักษะทางการเงินต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า คนแต่ละช่วงวัยและหนี้แต่ละประเภท ต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน

4. หนี้ครัวเรือนอื่นๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยปี 65 หนี้อื่นๆ มีสัดส่วนต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมดกว่า 18.8% อีกทั้ง ยังมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมสูงเป็นอันดับสอง และมีลูกหนี้ที่เป็น NPL รวมเกือบ 2 ล้านราย

ดังนั้น ควรมีแนวทางในการแก้ปัญหา ดังนี้

  • ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB อาทิ งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง
  • ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อ ดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย
  • หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลาง ต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้ และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้
  • ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงิน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียน ควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงาน ควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้
  • ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก อาทิ เกษตรกร จากนโยบายพักชำระหนี้ที่สร้างแรงจูงใจให้มีการไม่ชำระหนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top