ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลแล้วในวันนี้ (24 ส.ค.) ท่ามกลางความกังวลของชาวประมงท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศในช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า จะเริ่มปล่อยน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่โรงงาน ซึ่งผ่านระบบบำบัดของเหลวขั้นสูงที่สามารถขจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclide) ส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นทริเทียม (tritium)
ทั้งนี้ การปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 13.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น
น้ำที่ถูกปล่อยออกมาจะถูกเจือจางด้วยน้ำทะเลให้เหลือความเข้มข้นที่ระดับ 1 ใน 40 ตามที่ได้รับอนุญาตภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่น ก่อนถูกปล่อยลงมหาสมุทรผ่านทางอุโมงค์ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงาน 1 กิโลเมตร
สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) สรุปว่า แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกและมีผลกระทบ “เล็กน้อย” ต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าดำเนินการตามแผนกำจัดน้ำปนเปื้อนดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 66)
Tags: กัมมันตรังสี, ญี่ปุ่น, ฟุกุชิมะ, สิ่งแวดล้อม, โรงงานนิวเคลียร์