องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า ราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก และเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกจะพุ่งทำสถิติ
อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทผู้ให้บริการความช่วยเหลือด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยชั้นนำของโลก พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีการร้องขอข้อมูลและความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 พร้อมแนะนำให้องค์กรต่าง ๆ ดำเนินการเชิงรุกเพื่อปกป้องพนักงานของตนให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก
ดร.ไอรีน ไล ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า “การป้องกันและการตระหนักรู้คือกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบของไข้เลือดออกในแต่ละบุคคล แม้ว่าหลาย ๆ คนจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางคนอาจจะป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มรุนแรงกว่าในผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด และรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วและต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้เลือดออกสูง
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรต่าง ๆ คือ การประเมินความเสี่ยงของสถานที่ทำงาน รวมถึงสถานที่ที่พนักงานต้องเดินทางไปทำงาน ตลอดจนจัดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบ ได้แก่ การรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง จัดหาอุปกรณ์ป้องกันยุง และกำหนดให้พนักงานต้องผ่านการประเมินสุขภาพก่อนที่จะถูกส่งไปทำงานนอกสถานที่หรือต่างถิ่น”
อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส แนะนำแนวทางปฏิบัติสำหรับองค์กรในการปกป้องพนักงานให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก ดังนี้:
1. การวางแผนก่อนการเดินทาง: พนักงานควรได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพอย่างครบถ้วนก่อนการเดินทาง ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก มาตรการป้องกัน และวิธีการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น ณ สถานที่ที่เดินทางไป
2. การป้องกันยุงกัด: แนะนำให้พนักงานทายากันยุง สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิดเพื่อป้องกันยุง และอยู่ในที่พักที่ “กันยุง” ซึ่งมีการใช้เครื่องปรับอากาศและมุ้งลวด
3. การควบคุมสภาพแวดล้อม: องค์กรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงสูงควรใช้มาตรการควบคุมยุง เช่น กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และตรวจสอบสถานที่ทำงานเป็นประจำ
4. การให้ความรู้แก่พนักงาน: จัดให้มีการฝึกอบรมและจัดหาทรัพยากรเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ของพนักงานเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก อาการของโรค และวิธีป้องกัน
5. การสนับสนุนทางการแพทย์: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานสามารถเข้าถึงการดูแลและทรัพยากรทางการแพทย์ได้อย่างทันท่วงทีเพื่อจัดการกับโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้อาการของโรคพัฒนาไปจนถึงขั้นรุนแรง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 66)
Tags: WHO, ยุงลาย, องค์การอนามัยโลก, โรคไข้เลือดออก