สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพุธ (23 ส.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลว่า การชะลอตัวของกิจกรรมในภาคการผลิตของหลายประเทศจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของสต็อกน้ำมันเบนซินสหรัฐยังทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของอุปสงค์พลังงานในสหรัฐ
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 75 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 78.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 82 เซนต์ หรือ 0.98% ปิดที่ 83.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 900,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 6.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล
ตลาดยังถูกกดดันจากการชะลอตัวของภาคการผลิตในหลายประเทศ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนส.ค.ของญี่ปุ่นปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตในประเทศยูโรโซนปรับตัวลงมากกว่าคาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี
ทางด้านสหรัฐนั้น เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนส.ค.ของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 52.0 ในเดือนก.ค.
นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล ในวันศุกร์นี้ รวมทั้งการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่จากธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมดังกล่าวซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 -26 ส.ค. ภายใต้หัวข้อ “Structural Shifts in the Global Economy”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 66)
Tags: WTI, น้ำมัน WTI, ราคาน้ำมัน