สุโขทัยเสี่ยงแล้ง ห่วงเอลนีโญทำข้าวยืนต้นตาย เร่งสูบน้ำเติมนาข้าว

นายวิวัฒน์ มณีอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 (สทนช.ภาค 1) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ห่วงใยต่อสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ และสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามสถานการณ์เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเชิงป้องกันนั้น นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ สทนช. ภาค 1 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่ กอนช. ได้ประเมินไว้ เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงและวางแผนป้องกันปัญหาเร่งด่วนหากมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้ สทนช. ภาค 1 ได้ลงพื้นที่ ตำบลนครเดิฐ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย พบว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานอยู่ในช่วงการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ได้แก่ นาข้าว พืชไร่ และพืชสวน ซึ่งแต่ละชนิดอยู่ในช่วงระยะที่มีความต้องการน้ำมาก

ในขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหลัก ได้แก่ บึงสวย หนองยาง หนองกระเบื้อง หนองปลิง และหนองนาค มีน้ำน้อยมาก อาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้น้ำภาคการเกษตรได้ถึงเดือนพ.ย. 66 และคาดว่าในช่วงระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือนต่อจากนี้ หากไม่มีปริมาณฝนตกเพียงพอในพื้นที่ พืชข้าวซึ่งครบเวลาเก็บเกี่ยวมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ได้มีการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล งบกลางปีงบประมาณ 2565 ณ บริเวณหนองปลิง ซึ่งจะเพียงพอต่อการเพาะปลูกในระยะปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตพื้นที่นี้อาจจะมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำได้ในกรณีที่ฝนตกน้อยกว่าที่คาดการณ์ จึงได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแผนงานโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อป้องกันผลกระทบการขาดแคลนน้ำ อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรพร้อมติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ ซึ่งจากผลการประเมินเบื้องต้นในขณะนี้ น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ แต่ยังต้องเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำอย่างประหยัด

ทั้งนี้ สทนช. ภาค 1 จะมีการบูณาการหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญในระยะยาวต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top