ข้อมูลจาก MSCI Real Assets บ่งชี้ว่า นักลงทุนต่างชาติแห่ทำข้อตกลงด้านธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากการกลับมาของบรรดานักท่องเที่ยวชาวจีน
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติใช้จ่ายเงินไปกับการทำข้อตกลงธุรกิจด้านโรงแรมในญี่ปุ่นสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจในภาคส่วนอื่น ๆ และสูงกว่าตลอดปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์
การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่พักอาศัยจากนักท่องเที่ยวและเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจโรงแรม โดยภาวะเงินเฟ้อจะช่วยให้ธุรกิจโรงแรมมีความสามารถในการปรับราคาห้องพักให้สูงขึ้นอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงแรมมีความน่าดึงดูดมากกว่าธุรกิจอะพาร์ตเมนต์, สำนักงานและคลังสินค้าซึ่งราคาค่าเช่าอาจจะปรับตัวลงอีกเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งนักลงทุนที่ต้องการได้ผลตอบแทนที่งดงามจากการทำข้อตกลงทางธุรกิจ
เคนนี โฮ ซีอีโอของบริษัทเอสวิชัน อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นและไต้หวันกล่าวว่า “เรากำลังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าซื้อกิจการ โดยเรามองว่าในขณะที่ตลาดท่องเที่ยวญี่ปุ่นสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้นนั้น ตลาดโรงแรมยังสามารถเติบโตและรองรับความต้องการที่พักอาศัยที่หลากหลายมากขึ้นด้วย”
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการใช้จ่ายมากขึ้นในญี่ปุ่นขณะนี้ เมื่อเทียบกับในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
ข้อมูลจาก โคสตาร์ (CoStar) ซึ่งเป็นผู้จัดหาข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นและการจองห้องพักในโรงแรมยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าในปี 2562 แต่อัตราการจองห้องพักเฉลี่ยรายวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อยู่ที่ 16% ซึ่งสูงกว่าอัตราการจองห้องพักเฉลี่ยรายวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2562
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 66)
Tags: ท่องเที่ยว, ธุรกิจโรงแรม