ราชทัณฑ์ แยกขัง “ทักษิณ” เฝ้าระวัง 24 ชม. เหตุป่วย 4 โรค

ภาพ : รอยเตอร์

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินภารกิจรับตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารับโทษในเรือนจำเสร็จสิ้นแล้ว โดยสามารถดำเนินการได้เรียบร้อยทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การรับตัวที่สนามบิน นำตัวไปส่งที่ศาลฎีกา และนำตัวส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามนโยบายที่ผู้บังคับบัญชามอบไว้ 3 ประการ คือ 1.การดูแลความปลอดภัยขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งความเป็นอยู่ อาหารการกิน และการเยี่ยม 2.การจัดสถานที่รองรับผู้ที่จะมีเยี่ยมให้เรียบร้อยและเพียงพอ ไม่ให้เกิดความสับสน และ 3.เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุจะมีการดูแลเรื่องของสุขภาพอนามัยเป็นหลัก เพื่อป้องกันเกิดอาการเจ็บป่วย

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ให้เกียรติแก่อดีตนายกรัฐมนตรี โดยให้สวมเสื้อขาว เดินเข้าไปทางประตูสอง บานประตู 3 ไปถึงจุดสอบประวัติโดยใช้เวลาไม่นานนัก และไม่ได้มีการร้องขออะไรเป็นพิเศษ กรณีที่มีอาการป่วยรุนแรงเกินกำลังที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะดำเนินการตามระเบียบ ได้แก่ การส่งต่อไปที่โรงพยาบาลตำรวจ การส่งต่อไปที่โรงพยาบาลของส่วนราชการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอาการป่วย

นายสิทธิ สุชีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้รับตัวนายทักษิณไว้ตามหมายของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้เรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการขั้นตอนผู้ต้องโทษใหม่ มีการจัดทำทะเบียนประวัติเรียบร้อยแล้ว รวมถึงการตรวจสุขภาพจากแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งพบว่าอยู่ในกลุ่มเปราะบางเนื่องจากมีอายุเกิน 60 ปี เมื่อดูจากประวัติการรักษาที่ผ่านมาแล้วพบว่ามีโรคประจำตัวที่ต้องเฝ้าระวัง ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งได้แยกการคุมขังเดี่ยวไว้ที่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

อาการป่วยของนายทักษิณนั้นคงต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียดอีกที เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง และเครื่องมือยังไม่เพียงพอ แต่คงต้องขอรอดูอาการต่ออีกสักระยะ ส่วนการเยี่ยมนั้นต้องมีการกักตัวก่อน 10 วัน โดย 5 วันแรกจะคุมเข้มแยกให้อยู่ในห้องเพียงคนเดียว จะเยี่ยมได้เฉพาะทนายความ ส่วนอีก 5 วันหลังจะอยู่ในบับเบิ้ลโซนเพื่อให้ผ่อนคลาย เมื่อผ่าน 5 วันหลังไปแล้วญาติหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถขอเยี่ยมได้

สำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษนั้นสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันแรกตามแนวทางที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาการ รมว.ยุติธรรมได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมเรื่องเอกสารที่จะยื่นต่อเรือนจำที่จะมีคณะกรรมการพิจารณา เพื่อเสนอกรมราชทัณฑ์ให้เสนอต่อกระทรวงยุติธรรมและนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ส่วนการพิจารณาวินิจฉัยขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจ ไม่มีกำหนดเรื่องเงื่อนไขเวลา

ส่วนการพักการลงโทษของผู้ต้องขังตามหลักเกณฑ์จะต้องรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ของกำหนดโทษ แต่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ กรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีจะมีหลักเกณฑ์เรื่องเป็นผู้สูงอายุ อายุเกิน 70 ปี มีอาการป่วย และผ่านการอบรมต่างๆ

นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากการจัดทีมแพทย์และสหวิชาชีพเข้าดำเนินการในวันนี้พบว่า มีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด, อาการปอดอักเสบเรื้อรังรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ซึ่งทั้งสองอาการนี้ต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ, อาการความดันโลหิตสูงที่กำลังรักษาด้วยการกินยา และภาวะเสื่อมตามวัย เช่น กระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ การกดทับเส้นประสาทที่ก่อให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง แนวทางการดูแลนายทักษิณที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางจึงมีความจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัย และสามารถเข้าถึงการรักษาเพื่อลดการสูญเสีย

สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ความถนัดในการทรงตัวอาจลดลงตามอายุและอาการปวดหลัง ซึ่งจากการตรวจกล้ามเนื้อบางมัดกดเส้นประสาททำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เบื้องต้นจำเป็นต้องเฝ้าระวัง 4 โรคหลัก ส่วนอาการป่วยอื่นๆ นั้นจะขอประวัติการรักษาเพิ่มเติม

นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อรับตัวเข้ามาตามขั้นตอนแล้วก็จะจำแนกไปตามแดนต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลตามลักษณะของผู้ต้องขัง กรณีเป็นกลุ่มเปราะบางก็จะมีแดนคุมขังที่ดูแลในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย การรักษาพยาบาล ส่วนกิจกรรมก็จะเหมือนกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ

สำหรับมาตรการดูแลผู้ต้องขังกลุ่ม 608 นั้นจะเน้นเรื่องความปลอดภัย นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยจะจัดอาหารเสริมที่เหมาะสม เพราะการคุมขังไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะไปริดลอนเรื่องสุขภาพของผู้ต้องขัง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top