วันนอร์ ไม่รับญัตติ “โรม” ขอทบทวนเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ สส.ก้าวไกล ประท้วงวุ่น

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นทักท้วง กรณีที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุญัตติของตนที่ค้างอยู่ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 ส.ค.66 กรณีการขอให้ที่ประชุมรัฐสภา ทบทวนมติวันที่ 19 ก.ค.66 ที่ไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลซ้ำในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่

โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า เหตุใดจึงไม่บรรจุญัตติการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เพื่อให้มีการตีความให้เกิดความชัดเจน การอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 ว่า มติใดที่ประชุมมีความเห็นเป็นเด็ดขาดแล้ว ไม่สามารถทบทวนไม่ได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องถือตามคำวินิจฉัยตลอดไป โดยไม่สามารถทบทวนได้ แต่หากรัฐสภาจะทบทวนสิ่งที่เคยวินิจฉัยไป ย่อมทำได้ เช่นเดียวกับที่ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยทบทวนคำพิพากษาตัวเอง รัฐธรรมนูญระบุชัดว่า การเลือกนายกฯ ให้เลือกจากแคนดิเดทนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอมา แม้จะเสนอชื่อใครไปแล้ว

“ถ้าลงมติไม่ผ่าน ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญระบุว่าบุคคลนั้นไม่นับเป็นแคนดิเดทอีกต่อไป ความเป็นแคนดิเดท ยังมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ขอให้กลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูก พวกท่านอาจไม่อยากให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ แต่อย่าถึงขั้นเผาบ้าน เพื่อไล่หนูตัวเดียว เราจะวางบรรทัดฐานกันถึงขนาดนั้นเลยใช่ไหม” นายรังสิมันต์ กล่าว

โดยระหว่างนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ประธานรัฐสภา ได้ตัดบท ขอให้นายรังสิมันต์ จบการอภิปราย อีกทั้งในการประชุมวิป 3 ฝ่าย ก็มีการรับรองความเห็นฝ่ายกฎหมายรัฐสภา ที่บอกว่ามติที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถทบทวนได้ เพราะเป็นความเห็นเด็ดขาดไปแล้ว ดังนั้นในฐานะประธานรัฐสภา ขอใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 ใช้อำนาจวินิจฉัยไม่รับญัตติด่วนของนายรังสิมันต์ ที่เสนอด้วยวาจา

แต่ปรากฏว่า สส.พรรคก้าวไกลหลายคน พยายามโต้แย้งคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา โดยมองว่าการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา เป็นการขัดขวางการอภิปรายของนายรังสิมันต์ รวมทั้งกล่าวหาว่าประธานรัฐสภา รู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมากที่มีมติในการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ซึ่งในช่วงการโต้แย้งนี้ ทำให้สภาฯ เสียเวลาไปร่วม 30 นาที

จากนั้น ที่ประชุมรัฐสภา ได้เริ่มเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาประมาณ 11.00 น.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top