“อนุสรณ์”เสนอสวัสดิการชราภาพถ้วนหน้าแบบยืดหยุ่น ค้านต้องพิสูจน์ความจนก่อนรับสิทธิ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความพยายามในการใช้ระบบจ่ายเบี้ยยังชีพแบบมุ่งเป้าด้วยการพิสูจน์ความจนเพื่อลดภาระทางการคลังนั้นจะสร้างปัญหาในการดำเนินการ มากกว่า ช่วยประหยัดงบประมาณ มีการคาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เงินงบประมาณ 9 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 ในการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงวัยและงบประมาณส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้น เรื่อย ๆ จากจำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เบี้ยยังชีพจ่ายในอัตราปัจจุบันที่ 600-1,000 บาทนั้นก็ไม่เพียงพอต่อผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้จากการทำงานและไม่มีเงินออม

ที่สำคัญเกณฑ์ใหม่เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงวัยยังเปลี่ยนแนวคิดสวัสดิการสมัยใหม่ถือเป็นสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็น แนวคิดสวัสดิการอนุรักษ์นิยมแบบสงเคราะห์คนจนหรือผู้ด้อยโอกาสการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมว่า ผู้ที่จะรับเบี้ยยังชีพต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

เมื่อกำหนดเกณฑ์ใหม่เช่นนี้ก็จำเป็นที่ต้องมีกระบวนการในการพิสูจน์ความจนขึ้น ทำให้เกิดต้นทุนในการบริหารสวัสดิการเบี้ยยังชีพ หากต้นทุนส่วนเพิ่มนี้มากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้ยากจนแต่ได้ใช้สิทธินี้ไป เกณฑ์ใหม่นี้จะไม่เกิดประโยชน์ในการประหยัดงบประมาณเพราะไม่คุ้มกับต้นทุนการบริหารจัดการพิสูจน์ความจนที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ในกระบวนการพิสูจน์ความจนนั้นยังก่อให้เกิดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชันเอื้อประโยชน์กันผ่านการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับปฏิบัติการได้ นอกจากนี้อาจเกิดการตกหล่นตกสำรวจของผู้สูงวัยที่มีฐานะยากจนได้

นอกจากไม่ควรลดสวัสดิการผู้สูงวัยจากเดิมเป็น “สิทธิ” ให้ต้องไป “พิสูจน์ความจน” แล้ว ควรให้เป็นสิทธิถ้วนหน้าเหมือนเดิมและเพิ่มเบี้ยยังชีพจาก 600-1,000 บาท เป็น 2,000-3,000 บาทต่อเดือนแทนซึ่งต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นมาขั้นต่ำ 300,000 – 400,000 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนนี้ให้นำมาจากกองทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณต่างๆที่ไม่จำเป็นมาจากการเบิกจ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็น ลดการดูงานต่างประเทศของผู้บริหารในองค์กรของรัฐที่ไม่จำเป็น รวมทั้งต้องมีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้ามากขึ้น

หากสามารถจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นพร้อมกับจัดเก็บภาษีทรัพย์สินได้เพิ่มขึ้น การจ่ายเบี้ยยังชีพหรือบำนาญผู้สูงอายุ 2,000-3,000 บาทต่อเดือนจะสามารถทำได้โดยไม่เกิดความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลัง หากรัฐบาลใหม่วางเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการที่ดีขึ้นย่อมทำได้แต่ต้องมีการปฏิรูประบบการคลังใหม่และต้องปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัยเป็นรัฐบาลดิจิทัล

ประเทศรัฐสวัสดิการส่วนใหญ่ในยุโรปมักเป็นประเทศที่มีระบบราชการหรือระบบรัฐการที่ใหญ่ ต้องมีระบบราชการและระบบการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นรัฐสวัสดิการที่ล้มเหลวหรือประสบปัญหาความยั่งยืนทางการเงินการคลัง เกิดวิกฤติทางการคลัง นำไปสู่การลดขนาดของระบบราชการและลดสวัสดิการของประชาชนในที่สุด

ปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบางประเทศในยุโรปใต้และฝรั่งเศส และเมื่อมีการลดสวัสดิการก็จะเกิดการชุมนุมต่อต้านเกิดความไม่สงบขึ้นมาในสังคม เมื่อปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลใช้งบกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อเป็นเงินบำนาญข้าราชการ มีอดีตข้าราชการที่ได้รับสิทธิ์ 9.5 แสนคน หรือคิดเป็นเงินบำนาญเฉลี่ย 2.6 หมื่นบาท/คน/เดือน แต่ผู้สูงอายุไทย 11 ล้านคน ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงเดือนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน และจะใช้เงินงบประมาณในปี พ.ศ. 2567 ประมาณ 9 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งและผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่ง

 

*ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อเสี่ยงเศรษฐกิจเสียหาย

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เกิดทางตันทางการเมืองไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า 3 เดือนแล้วทำให้การตัดสินใจหลายเรื่องเกี่ยวกับการจัดการระบบสวัสดิการของประชาชนต้องชะลอไปก่อน ทางตันเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560 และจุดยืนทางการเมืองของวุฒิสมาชิกบางส่วนที่ปฏิเสธเจตนารมณ์ของประชาชนทำให้การเลือกผู้นำประเทศยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ การเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายใน 22 สิงหาคมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากลากยาวจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนัก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อาจปรับตัวลงจากกรณีฐานได้ถึง 0.3-0.5%

“หากไม่สามารถจัดตั้งได้ภายในเดือนส.ค.นี้ เราจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจการลงทุนและความล่าช้าในการแก้ปัญหาต่างๆของประเทศปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 จะกลับมาอีก ผลกระทบภัยแล้งกำลังจะมา ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะรุนแรงขึ้น จะไม่มีผู้รับผิดชอบประเทศโดยตรงทำข้อตกลงการค้าเปิดตลาดขับเคลื่อนภาคส่งออก ภาคส่งออกไทยปี 66 จะมีมูลค่าประมาณ 280,000-290,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 0.5-1% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 5.5% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 3 ปีนับจากปี 63 ที่ติดลบ 5.9%

นอกจากนี้ความล่าช้าในการตั้งรัฐบาลเข้าสู่เดือนที่สี่จะกระทบสวัสดิการประชาชนโดยตรง กรณีเรื่องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับเงินเบี้ยยังชีพเป็นตัวอย่างรูปธรรมชัดเจนที่สุด โครงการลงทุนใหม่ๆต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาลใหม่ การปรับตัวสูงขึ้นของค่าไฟฟ้า ราคาพลังงาน อันเป็นผลจากมาตรการรัฐ เป็นต้น

การเดินหน้าดูแลสวัสดิการของรัฐบาลให้กับประชาชนนั้น เรื่องที่ต้องทำไปพร้อมกัน คือ ต้องปรับเปลี่ยนระบบราชการให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพก่อน คือต้องปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่พร้อมกับการกระจายอำนาจการจัดระบบสวัสดิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องที่สอง คือ ต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐและเพิ่มภาษี

ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นประเทศรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบจะมีสัดส่วนรายได้ภาษีอยู่ที่ระดับ 42-48.9%ของจีดีพี อย่างเดนมาร์ก มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 48.9% สวีเดนอยู่ที่ 48.2% โดยประเทศพัฒนาใน OECD มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 35% สหรัฐอเมริกาที่ใช้แนวคิดปัจเจกนิยมเสรี (Liberal Individualism) กับ แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) ผสมกันในจัดระบบสวัสดิการโดยรัฐขึ้นอยู่กับว่า พรรคแดโมแครต หรือ พรรครีพับรีกัน พรรคไหนเป็นรัฐบาล มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 28-30%

ส่วนไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเพียงแค่ 14% เท่านั้น จึงยังห่างไกลต่อการมีฐานะทางการคลังที่สามารถสนับสนุนรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบอย่างสแกนดิเนเวียได้ ประเทศไทยเคยมีสัดส่วนการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ระดับ 18% ในปี พ.ศ. 2539 ก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 40

“นโยบายประชานิยมแบบแจกเงินไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ และจะนำไปสู่กับดักประชานิยม ยกเลิกยากและทำให้ประชาชนและสังคมอ่อนแอลงในระยะยาว หากเดินหน้าดำเนินการนโยบายประชานิยมแจกเงินต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเพราะการจัดเก็บภาษีเพิ่มด้วยการเพิ่มอัตราภาษีในระยะหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าอาจไม่เหมาะสมเนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว ไทยต้องต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมเมื่อเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณ โดยเฉพาะสวัสดิการผู้สูงวัย ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO แสดงว่า รายจ่ายของรัฐบาลไทยสำหรับสวัสดิการผู้สูงอายุคิดเป็น 1.5% ต่อ GDP เท่านั้น ถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและน้อยกว่าอย่างมากเมื่อเทียบประเทศที่เผชิญการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางประชากรผู้สูงวัยใกล้เคียงกัน”

ส่วนข้อมูลจากดัชนี Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ประจำปี 2022 ซึ่งจัดทำโดย Mercer CFA Institute แสดงให้เห็นว่า ไทยได้คะแนนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 44 ประเทศในดัชนี สะท้อนให้เห็นว่าระบบบำนาญของไทยยังไม่แข็งแรง หมายความว่า ผู้สูงอายุชาวไทยทั้งปัจจุบันและในอนาคตแทบไม่มีหลักประกันเพียงพอ โดยไทยมีรายจ่ายด้านสวัสดิการเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณค่อนข้างต่ำ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมในปัจจุบันของไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสแกนดิเนเวียต้นแบบรัฐสวัสดิการมากกว่า 14-15 เท่า และ อย่างสวีเดนหรือเดนมาร์กมีรายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมต่อหัวมากกว่าไทยประมาณ 600 เท่า การดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ระบบรัฐสวัสดิการจึงต้องใช้เวลา ประเมินจากฐานะการเงินการคลังของประเทศ รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม โครงสร้างประชากรล่าสุด สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงจะบรรลุเป้าหมายการมีระบบรัฐสวัสดิการที่มีมาตรฐานแบบยุโรปเหนือจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีนโยบายสร้างระบบรัฐสวัสดิการทำงานต่อเนื่องอย่างน้อยสองวาระจึงจะบรรลุเป้าหมายได้ เป้าหมายนี้อาจเป็นจริงได้ยากหากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ

โครงสร้างอำนาจและระบบพรรคการเมืองต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เกิด Strong and Accountable Government แต่ควรเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่นเพื่อเลี่ยงวิกฤติการคลังเช่นประเทศยุโรปบางประเทศในอีกด้านหนึ่ง หากไม่เร่งดำเนินการผู้สูงอายุที่ยากจนจะประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตอย่างมาก และสังคมไทยก็ได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมจะเพิ่มขึ้นอีก และ อาจเป็นเงื่อนไขในการเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม (Social Unrest) ได้ โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและไม่อยู่ในระดับบำนาญใดๆจะเป็นปัญหาวิกฤติในอนาคตอันใกล้ ประชากรในวัยทำงานลดลงอย่างมาก ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน การศึกษานโยบายการเพิ่มประชากรผ่านการตั้งถิ่นฐานใหม่ของแรงงานทักษะสูงการศึกษาสูงเป็นเรื่องที่ควรมีการเตรียมการเอาไว้

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการแจกเงินนั้นเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ยั่งยืน เป็นนโยบายแนวประชานิยมที่อาจสร้างปัญหาได้ เพราะเป็นประชานิยมที่ไม่ได้ยึดกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ คือ การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม มุ่งไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้ง วางแผนให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน การปฏิรูประบบการศึกษาต้องเน้นไปที่คุณภาพการศึกษามากกว่าการใช้ระดับปีการศึกษา (School attainment) หรือ จำนวนปีการศึกษา (Year of schooling) เป็นเป้าหมายไม่เพียงพอ การลงทุนทางด้านการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาและระดับการศึกษาพื้นฐานจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้

ประเทศไทยประสบกับปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการและอุปทานในตลาดแรงงานแล้วยังจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัยอีกด้วย การผลิตคนสู่ภาคการผลิตของเรายังไม่ได้อิงกับอุปสงค์ของระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก สถาบันการศึกษาเลือกผลิตคนตามความพร้อมของตน

นอกจากนี้ระบบการศึกษายังผลิตคนตามความนิยมและค่านิยมในการเรียนมากกว่าความต้องการจริงๆในระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษาไทย จึงเป็น Supply Driven Education System คุณภาพทางด้านการศึกษาระดับสูงของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากการลงทุนทางด้านวิจัยและการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการอุดมศึกษาไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญความด้อยลงของคุณภาพการศึกษาสะท้อนมาที่แรงงานที่ไม่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ระบบการศึกษายังไม่ได้เตรียมคนสำหรับเศรษฐกิจในยุคหุ่นยนต์และ AI ให้ได้แรงงานที่มีทักษะแบบใหม่ ขณะที่ตำแหน่งงานบางอย่างจะหายไปจากตลาดแรงงานเพราะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์และ AI ทั้งหมด ต้องดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจในสองด้านสำคัญ คือ สร้างความเป็นธรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในประชาคมอาเซียนเองนั้นมีปัญหาความยากจนและปัญหาความเท่าเทียมกันค่อนข้างมากโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (ประกอบไปด้วย เขมร ลาว พม่าและเวียดนาม)

การจะแก้ปัญหาได้ต้องอาศัยแนวทางแบบบูรณาการและมีความหลากหลาย (Multi-dimensional and Integrated Approach) เน้นยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ Inclusive Growth และ การคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ไทยและอาเซียนต้องแสวงหาความร่วมมือระดับมหภาคระหว่างประเทศผ่านทาง ESCAP และ ADB เนื่องจากสองหน่วยงานนี้สนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและเสมอภาค (Macroeconomic Policies for Inclusive and Sustainable Development) ท่ามกลางการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและข้อตกลงเขตการค้าเสรีและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจต่างๆ หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการดูแลบรรดาธุรกิจอุตสาหกรรมภาคเกษตรกรรมรวมทั้งกิจการที่ปรับตัวไม่ทันและแข่งขันไม่ได้ จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมีความซับซ้อนและกระจายตัวมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สูญเสียอาชีพและยังไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมหรือกิจการที่แข่งขันได้ ตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้นและใหญ่ขึ้นย่อมเป็นโอกาสแห่งการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดได้

 

*แนะสร้าง “สังคมสวัสดิการ”

 

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การลดช่องว่างทางรายได้ การแก้ความยากจนและสร้างความเป็นธรรมทางสังคมจำเป็นต้องดำเนินการใน 2

ด้าน คือ ด้านผู้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างเหลือล้น – ใช้แนวทางการคลัง การงบประมาณ การภาษี และการป้องกันการผูกขาด ส่วนด้านคนยากไร้ – ผลักดันให้กลุ่มผู้ยากไร้ผู้ด้อยโอกาสหลุดพ้นจากภาวะขัดสนยากจนด้วยการสร้างโอกาสให้เข้าถึงปัจจัยการผลิตพัฒนาระบบสวัสดิการโดยรัฐอย่างเป็นระบบ จัดให้มีระบบการคุ้มครองทางสังคม (Social protection) และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะ
ทิศทางแนวนโยบายด้านสวัสดิการสังคมที่เป็นไปได้ และสามารถดำเนินการได้ทันทีคือ การสร้าง “สังคมสวัสดิการ (welfare society)” ขึ้นโดยผนึกกำลังจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมสร้างสรรค์สวัสดิการสังคมขึ้นในหลายรูปแบบ มีการจัดการโดยหลายสถาบันและสร้างความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสวัสดิการอย่างกว้างขวางครอบคลุมโดยแต่ละรูปแบบและแต่ละสถาบันมีความเป็นอิสระต่อกัน ภายใต้ความรับผิดชอบและการดูแลของสังคมโดยรวม

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ระบบรัฐสวัสดิการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ แต่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เลย คือ สังคมสวัสดิการที่ต้องทำให้สถาบันครอบครัวและระบบชุมชนมีความเข้มแข็ง การสร้างและการพัฒนาสังคมสวัสดิการซึ่งเป็นระบบสวัสดิการที่หลากหลาย เปิดกว้างเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และมีการจัดการในหลายรูปแบบทั้งเอกภาคี ทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี ตามแต่ลักษณะของผู้จัดสวัสดิการสามารถดำเนินการเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

1. กำหนดการสร้างสังคมสวัสดิการให้เป็นวาระแห่งชาติ สังคมสวัสดิการ มีความหมายที่แตกต่างไปจากรัฐสวัสดิการ (welfare state) เพราะรัฐสวัสดิการโดยทั่วไปเป็นหน้าที่ของรัฐ ภาครัฐต้องขยายใหญ่ขึ้น อาจไม่เหมาะกับไทยอย่างน้อยในระยะสั้นที่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องฐานะทางการคลัง รัฐสวัสดิการเป็นการจัดสวัสดิการทั่วหน้าและทั่วด้านโดยรัฐ

แต่สังคมสวัสดิการมีสวัสดิการทางเลือกหลากหลายจากทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า

2. สร้างภาคีสังคมสวัสดิการจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมใน 3 รูปแบบได้แก่ สวัสดิการโดยรัฐถือเป็นสิทธิพื้นฐานของสังคมที่จะลดความแตกต่างทางสังคม และเศรษฐกิจและการลดช่องว่างความสัมพันธ์ไม่เสมอภาคอันเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อไม่ได้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในสังคม สวัสดิการโดยรัฐประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การบริการสังคม การประกันสังคม และการสงเคราะห์สังคม หรือการช่วยเหลือทางสังคม

แนวทางการสร้างสวัสดิการโดยรัฐให้กว้างขวางครอบคลุม สามารถดำเนินการได้โดยการจัดการงบประมาณ โดยการกำหนดเป้าหมายในการจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ให้ถึงมือคนจน การกระจายอำนาจจากราชการให้องค์กรประชาชนเพื่อทำให้องค์กรเหล่านี้สามารถจัดสวัสดิการในบางประเภท การพัฒนาฐานข้อมูลระดับพื้นที่ และข้อมูลจุลภาคในระดับชุมชน/ท้องถิ่น การคลังเพื่อการกระจายรายได้โดยปรับปรุงการจัดเก็บภาษีทั้งอัตราภาษีและประเภทภาษี รวมถึงการกระจายระบบงบประมาณไปสู่ระบบการคลังท้องถิ่น การจัดให้มีระบบความมั่นคงทางสังคม (หรือระบบการประกันสังคม) เพื่อลดความเสี่ยงในชีวิตของคน เช่น ความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ซึ่งควรมีลักษณะถ้วนทั่ว

3 สวัสดิการโดยภาคธุรกิจ นอกจากสวัสดิการจากรัฐตามกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ภาคธุรกิจก็สามารถจัดสวัสดิการให้กับแรงงานลูกจ้างและแรงงานที่คล้ายลูกจ้าง (เช่น เกษตรกรภายใต้พันธสัญญา และผู้รับงานไปทำที่บ้าน) ได้โดยผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบของทางราชการใน 3 ด้าน คือ ขยายการคุ้มครองแรงงานทั่วหน้า การประกันสังคมถ้วนหน้าครอบคลุมทั้งแรงงานภายในและนอกระบบที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยตรง

และสวัสดิการแรงงานในลักษณะอื่น ๆ เช่น ที่พัก อาหารกลางวัน รถรับส่ง เป็นต้น

4. สวัสดิการโดยชุมชน รูปแบบการจัดสวัสดิการสำหรับกลุ่มนี้ได้แก่ การที่รัฐส่งเสริมและสนับสนุนโครงการที่ชุมชนร่วมกันจัดทำขึ้น กล่าวคือ ขยายผลสวัสดิการบนฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมให้กว้างขวาง และการมีส่วนร่วมจากภาคชุมชน ครัวเรือน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยส่วนกลางจัดทำกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินการในระดับพื้นที่ สนับสนุนสถาบันแรงงานที่ไม่เป็นทางการ เพื่อทำงานคู่ขนานไปกับระบบสหภาพแรงงานไม่ติดยึดเพียงกรอบการทำงานของระบบสหภาพ และส่งเสริมให้การจัดตั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบร่วมกับแรงงานในระบบภาคต่าง ๆ ส่งเสริมงบประมาณเพื่อการส่งเสริมสถาบันสวัสดิการชุมชน ดยสนับสนุนให้ภาคประชาชนทั้งในรูปแบบกลุ่ม องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิเป็นเจ้าภาพในการจัดสวัสดิการ

โดยรัฐทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและจัดงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการที่กลุ่มและองค์กรเหล่านี้จัดทำขึ้นสวัสดิการอื่น ๆ เช่น ปรับกระบวนการทำงานของสถาบันและระบบสถานสงเคราะห์ ไม่ให้เป็นกลายเป็นการกระทำแบบซ้ำซ้อน พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ด้อยโอกาสและด้อยสมรรถนะดำเนินชีวิตอิสระ เพื่อสร้างความมั่นใจในตนเองให้ยืนอยู่ได้ในสังคม โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้พิการ คนชรา เหยื่อผู้ถูกกระทำจากความรุนแรง เป็นต้น

 

*ควรชะลอแจกเงินดิจิทัลวอลเลตออกไปก่อน

 

นายอนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้าปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นชัดเจน

ควรทบทวนและชะลอนโยบายโอนเงินผ่านดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาทไปก่อน หากสถานการณ์ภาคส่งออกไทยยังคงติดลบในช่วงเหลือของปี หรือ ปัจจัยเสี่ยงจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน ปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคารและสถานการณ์การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนรุนแรงกว่าคาด และจำนวนคนว่างงานในจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากปัจจัยเสี่ยงภายนอกเหล่านี้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยและจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในแรงๆ ค่อยนำมาใช้จึงเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และ ควรเอางบประมาณส่วนนี้ 500,000 กว่าล้านบาทไปใช้ลงทุนเพื่อเพิ่มทักษะแรงงาน ลงทุนระบบการบริหารจัดการน้ำ หรือลงทุนเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ในช่วงนี้จะดีกว่า นอกจากนี้ ต้องเตรียมงบประมาณสำหรับระบบบริหารจัดการน้ำที่ในหลายพื้นที่ของประเทศอาจเผชิญภัยแล้งอย่างรุนแรง พร้อมกับราคาพืชผลเกษตรโดยเฉพาะข้าวมีราคาสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพของคนจนเมืองเพิ่มสูงขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top