WSJ เผย กองทัพสหรัฐ-จีนแข่งกันพัฒนาฝูงโดรน AI ชิงความเป็นใหญ่ด้าน AI การทหาร

สำนักข่าวเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) รายงานเมื่อวานนี้ (19 ส.ค.) ว่า สหรัฐและจีนกำลังเร่งค้นคว้าวิจัยเพื่อบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ลงในด้านการทหารของตน อันเป็นการแข่งขันระดับโลกเพื่อชิงความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI โดยทั้งสองประเทศมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอาวุธที่สามารถค้นหาเป้าหมายได้เอง ตลอดจนเครื่องมือ AI สำหรับการระบุเป้าหมายโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม

ในการทดสอบเมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกลาโหมแห่งชาติของจีนได้ทดลองใช้ฝูงโดรนที่สามารถเอาชนะสัญญาณรบกวนและทำลายเป้าหมายได้โดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกัน สหรัฐจัดซ้อมรบร่วมกับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียในเดือนเม.ย. โดยใช้ฝูงโดรน AI เพื่อติดตามและจำลองการโจมตียานพาหนะภาคพื้นดิน เช่น รถถัง, ปืนอัตตาจร และยานเกราะ

และเมื่อต้นปีนี้ สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม (DARPA) ในสหรัฐกำลังสำรวจโครงการ “รวมฝูง” (swarm-of-swarms) ซึ่งรวมฝูงโดรนที่ควบคุมด้วย AI ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเลเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ การศึกษาโดยศูนย์ความมั่นคงและเทคโนโลยีอุบัติใหม่แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พบว่า หนึ่งในสามของสัญญาที่ทราบทั้งหมดในสหรัฐและจีนจากระยะเวลาแปดเดือนในปี 2563 เป็นสัญญาเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับอัจฉริยะ และทั้งสหรัฐและจีนกำลังลงทุนในการวิจัยและพัฒนา AI ทางทหารไปแล้วประมาณหลายพันล้านดอลลาร์

การทดลองเรื่องโดรน AI ทางทหารถูกนำมาใช้ทดสอบจริงในสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยยูเครนใช้โดรนเหล่านี้ในการโต้กลับรัสเซีย ส่วนกองทัพสหรัฐก็ถือโอกาสศึกษาประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าวในสนามรบ

แต่ความก้าวหน้าล่าสุดของ AI นำไปสู่ความกังวลว่าสหรัฐอาจล้าหลังจีนในเรื่อง AI ทางทหาร โดยในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของสภาในเดือนก.ค. เกี่ยวกับ AI ในสนามรบที่จัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนิติบัญญัติด้านนโยบายกลาโหมของสหรัฐ (HASC) นายไมค์ กัลลาเกอร์ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า หากจีนชนะ “ในด้าน AI ของการแข่งขันครั้งนี้ ก็มีแนวโน้มว่าจีนจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อทำเรื่องชั่วร้าย”

ด้านเจ้าหน้าที่จีนได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการทำสงครามโดยใช้ AI เพื่อระบุช่องโหว่ของสหรัฐ ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องให้จีนเร่งพัฒนา “ขีดความสามารถการรบอัจฉริยะไร้คนขับ” ในขณะเดียวกัน สหรัฐกำลังศึกษาเครื่องมือเจเนอเรทีฟเอไอ (generative AI) และได้ออกกฎคุมเข้มการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงไปยังจีน

แม้จะมีความก้าวหน้าดังกล่าว แต่เทคโนโลยี AI ทางการทหารยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยสัญญาในทั้งสองประเทศที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของ AI ในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ทางทหารนั้นมีจำนวนไม่ถึง 5%

นอกจากนี้ แนวโน้มที่จะมีการใช้อาวุธที่ควบคุมโดย AI ทำให้เกิดความวิตกว่าอาจเกิดการยกระดับขัดแย้งทางทหารโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 50 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐและจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบในแวดวงการทหาร ในตอนท้ายของการประชุม ผู้เข้าร่วมได้ออกชุดหลักการที่ไม่ผูกมัดรวมถึง “ความสำคัญของการรับรองมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมและการกำกับดูแลโดยมนุษย์ในการใช้ระบบ AI”

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top