น่าห่วง! สธ. เผยยอดผู้ป่วยไข้เลือดออก พุ่ง 5-6 พันราย/สัปดาห์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 65,552 ราย โดยช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5,000-6,000 รายต่อสัปดาห์ ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคไข้เลือดออกแล้ว 31 จังหวัด และเปิดในระดับเขตรวม 7 เขต ส่วนผู้เสียชีวิตสะสม มี 58 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กโต และผู้ใหญ่ถึง 40 ราย

ปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิต คือ ช่วงแรกที่ป่วย มักไม่ได้คิดถึงโรคไข้เลือดออก และได้รับยากลุ่มเอ็นเสดเพื่อลดไข้ ทำให้เลือดออกง่าย และมีความเสี่ยงเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิต ดังนั้น หากมีไข้ รับประทานยาลดไข้ 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้เลือดออก และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน

นพ.โอภาส กล่าวว่า เนื่องจากโรคไข้เลือดออก ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้ คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคทุกสัปดาห์ ซึ่งจากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในสถานที่ต่างๆ ยังพบมากทั้งในโรงเรียน โรงพยาบาล ครัวเรือน ศาสนสถาน โรงงาน โรงแรม และสถานที่ราชการ รวมทั้งกำจัดยุงในบ้านเรือนและป้องกันยุงกัดเมือพบผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออก

“ได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานไปถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสั่งการหน่วยงานในสังกัด ให้ร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในหน่วยงานให้หมดไป และเร่งรัดการควบคุมโรคในพื้นที่ระบาด” นพ.โอภาส กล่าว

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (6-12 ส.ค.) พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 318 ราย เฉลี่ย 45 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 136 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 83 ราย และเสียชีวิต 7 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อวัน โดยแนวโน้มสถานการณ์ค่อนข้างทรงตัว แต่ผู้เสียชีวิตยังคงเป็นกลุ่ม 607 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงคือ ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น หรือฉีดเข็มกระตุ้นมานานเกิน 3 เดือน

ทั้งนี้ ได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกจังหวัด รณรงค์กระตุ้นให้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและการเสียชีวิต รวมทั้งสื่อสารแนวทางป้องกันโรคส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top