โรงกลั่นเอเชียจ่อกำไรหด หลังคูเวตหั่นลดส่งออกน้ำมันดิบ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โรงกลั่นน้ำมันในเอเชียกำลังพยายามหาแหล่งน้ำมันดิบอื่นเพื่อมาทดแทนน้ำมันดิบของคูเวต เนื่องจากคูเวตประกาศปรับลดการส่งออกน้ำมันลงเกือบ 1 ใน 5 เพื่ออัดฉีดให้แก่โรงกลั่นขนาดใหญ่แห่งใหม่ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบที่มีกำมะถันสูง (sour crude) พุ่งสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะบีบให้อัตรากำไรลดลง

การปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันของคูเวตมีขึ้นหลังจากซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ส่งผลราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นแตะระดับเกือบ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลอดจนจำกัดทางเลือกให้กับโรงกลั่นในเอเชีย ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากกว่า 2 ใน 3

โรงกลั่นของจีน ซึ่งลงทุนมหาศาลในโรงกลั่นใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อแปรรูปน้ำมันมันดิบที่มีกำมะถันสูงได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม น้ำมันจากรัสเซียที่มีราคาถูกกว่าได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงทดแทนน้ำมันดิบบางส่วนจากคูเวต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดีย

ทั้งนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่ของคูเวตจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อน้ำมันที่มีคุณภาพเทียบเท่าจากแหล่งอื่น เช่น ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) หรือซื้อน้ำมันดิบคุณภาพสูงที่มีกำมะถันต่ำ (sweet crude) ที่มีราคาแพงกว่าจากภูมิภาคอื่น ๆ

นายจานิฟ ชาห์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทริสตัด เอเนอร์จี กล่าวว่า “ซาอุดีอาระเบียและ UAE จะเข้ามาเป็น 2 ผู้ค้านำมันหลักที่จะมาจัดการกับช่องว่างอุปทานน้ำมันในตะวันออกกลาง เนื่องจากมีศักยภาพสูงในการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบที่มีกำมะถันเจือปนปานกลาง อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ประเทศอาจไม่สามารถตอบสนองอุปสงค์ได้ทั้งหมด”

ข้อมูลจากบริษัทเคปเลอร์ระบุว่า การจัดส่งน้ำมันดิบของคูเวตปรับตัวลดลงประมาณ 10% แตะระดับ 1.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากโรงกลั่นอัลซอร์เพิ่มกำลังการผลิต

นอกจากนี้ ยอดการส่งออกน้ำมันไปยังไต้หวัน จีน และอินเดียปรับตัวลดลงมากกว่า 17% ในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่การส่งออกไปยังปากีสถาน จีน และไทยลดลงจนเหลือศูนย์

ทั้งนี้ ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาเอฟจีอี เอ็นเนอร์จี แอสเปคท์ส ริสตัด เอเนอร์จี และ เอสแอนด์พี โกลบอล คอมโมดิตี อินไซต์ส ระบุว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คูเวตจะปรับลดการส่งออกลงสูงสุด 300,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 18% จากช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากคูเวตต้องการอัดฉีดน้ำมันดิบ 615,000 บาร์เรลต่อวันให้กับโรงกลั่นอัลซอร์

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top