นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม (วิป) 3 ฝ่ายถึงกรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยนั้น นายสมชาย ระบุว่า ไม่ส่งผลให้ สว.เลิกแตกแถวได้ เพราะ สว.ทุกคนมีความเป็นอิสระ ซึ่งทุกคนจะต้องพิจารณาตามคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อ
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายวันนี้ ตนได้สอบถามพรรคเพื่อไทยว่าสรุปแล้วจะเสนอชื่อใคร แต่พรรคเพื่อไทยยังพูดไม่ชัดเจน และบอกว่าจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ส.ค. ซึ่งเบื้องต้นตอนนี้ยังเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ในขณะที่ตนได้ยินมาว่าเป็นชื่อบุคคลอื่น ดังนั้นจึงมองว่าพรรคเพื่อไทย ควรจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้ให้ชัดเจน
ส่วนการโหวตให้นายเศรษฐา นั้น นายสมชาย กล่าวว่า ตนไม่เคยบอกว่าจะ “โหวต” หรือ “ไม่โหวต” ให้ แต่ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบตามปกติ ความประพฤติพฤติกรรม จริยธรรม เหมือนกับองค์กรอิสระ ส่วนความเหมาะสมของนายเศรษฐานั้น ตนขอไม่วิพากษ์เป็นรายบุคคล เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับตัวนายเศรษฐา
“ถ้าไม่มีปัญหา เราก็โหวตให้ และถ้าองค์ประกอบของนโยบายร่วมของทุกพรรค นำพาประเทศไปได้ เราก็เห็นด้วย นำพาประเทศไม่ได้ เราก็ไม่เห็นด้วย” นายสมชาย ระบุ
นายสมชาย ยังได้ปฏิเสธแนวคิดที่ สว.ไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา เพื่อให้มีการเสนอชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป โดยกล่าวว่า ไม่มีใครคิดไปไกลขนาดนั้น เพราะหากนายเศรษฐา ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา พรรคเพื่อไทยก็ยังมีแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีคนอื่นในลำดับถัดไป และคงจะไม่ไปถึงขั้นเสนอชื่อเสนอชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย
นายสมชาย ยังกล่าวถึงการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีว่า ในความเห็นของตนนั้น อยากให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อได้เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์และตอบข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภา แต่หากไม่มา ก็ควรมีการแถลงอย่างเป็นทางการ แต่ถ้ามาก็ถือว่าเป็นโอกาสดีของนายเศรษฐาเอง ซึ่งเบื้องต้น นายเศรษฐาไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม
“วันนี้ ต้องเอาให้ชัดเจนเพราะการตั้งรัฐบาลอ้างว่าเป็นการสลายขั้ว สว.ไม่ได้ขัดข้องอะไร ยิ่งพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดในการผลักดันเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สว.บางส่วนสงสัยว่า ทำไมต้องล้มรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงไม่ใช้วิธีการแก้ไขฉบับเดิมที่มีอยู่ เพราะการยกร่างฉบับใหม่ ต้องมีการทำประชามติถึง 3ครั้ง ใช้เงินเกือบ 4,000 ล้านบาท และต้องเข้าใจว่า สว.ก็มาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากเห็นว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาตรงไหนก็เสนอแก้ไขจะดีกว่า แต่เรื่องนี้จะส่งผลให้ สว.ไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐาหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ส่วนตัวกังวลเรื่องนี้ “นายสมชาย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรัฐสภา เพื่อเปิดเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค.นี้ สว.ได้รับการจัดสรรเวลาให้อภิปรายได้ 2 ชั่วโมง ซึ่ง สว.จะใช้เวลานี้ในการอภิปรายทุกเรื่องของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี
ส่วนกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขอหารือในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อขอให้พิจารณาญัตติ ทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 ซึ่งประธานรัฐสภา ยินดีที่จะเปิดโอกาสให้นายรังสิมันต์ เสนอญัตติดังกล่าวได้นั้น นายสมชาย กล่าวว่า หากมีการเสนอจริง โดยส่วนตัวแล้วขอคัดค้าน เพราะมองว่าญัตติดังกล่าวประธานรัฐสภาได้ใช้อำนาจชี้ขาดไปแล้ว อีกทั้งเมื่อมีมติไปแล้วก็ไม่ควรนำกลับมาทบทวนใหม่ มิฉะนั้นก็จะทำอย่างนี้ได้เรื่อยๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 66)
Tags: จัดตั้งรัฐบาล, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, สมชาย แสวงการ