GFC จ่อขาย IPO 60 ล้านหุ้นพร้อมเทรด Q3/66 ตอกย้ำศักยภาพบริการแพทย์ผู้มีบุตรยาก

นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC) กล่าวว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น ตอกย้ำศักยภาพความแข็งแกร่งทางธุรกิจสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากรายแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคาดว่าจะเสนอขาย IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น พร้อมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 3/66

วัตถุประสงค์ของการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้ลงทุนขยายคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่น ๆ ตามพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยาก เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรมนักเทคนิคการแพทย์ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติในอนาคต โดยบริษัทฯพร้อมขับเคลื่อนองค์กร ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม

นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ รองประธานกรรมการ GFC กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

“จากการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินชีวิตของประชากรไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จและความพร้อมก่อนการมีบุตร ทำให้ประชากรกลุ่มวัยเจริญพันธุ์มีแนวโน้มการแต่งงานช้าลง ซึ่งถือเป็นโอกาสของกลุ่มบริษัท GFC ในการสร้างรายได้จากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากกับประชากรวัยเจริญพันธุ์ที่มีบุตรช้า”

จากข้อมูลของกลุ่มบริษัทฯ พบว่า ในปี 2564 สัดส่วนผู้มีบุตรยากที่เข้ามารับบริการรักษากับกลุ่มบริษัทส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีบุตรยากที่อยู่ในช่วงอายุ 35 ถึง 39 ปี คิดเป็นร้อยละ 44.74 ของจำนวนผู้มีบุตรยากที่เข้ามารับบริการรักษากับกลุ่มบริษัททั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่มผู้มีบุตรยากที่อยู่ในช่วงอายุ 40 ถึง 45 ปี และ 30 ถึง 34 ปี คิดเป็นร้อยละ 24.74 และร้อยละ 23.03 ของจำนวนผู้มีบุตรยากที่เข้ามารับบริการรักษากับกลุ่มบริษัททั้งหมด ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทได้รับผลเชิงผลบวก จากการที่ประชากรไทยมีบุตรช้าลง ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตไทยในปัจจุบัน ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญบางมาตรา เพื่อให้คู่สามีภรรยาชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำการอุ้มบุญในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ของประเทศไทยในอนาคต

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เติบโต เนื่องมาจากการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก (Fertility Tourism) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Allied Market Research ในปี 2562 พบว่า ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 33.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 14.20 ต่อปี โดยมองว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุด หรือมีมูลค่าประมาณ 5.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ Fertility Tourism ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

พร้อมทั้งกล่าวตอกย้ำว่า จุดแข็งของ GFC นอกจากจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว GFC ยังเป็นศูนย์รวมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชั้นนำด้านการเจริญพันธุ์ เพื่อผู้หญิงยุคใหม่ และคู่สมรสที่ปรารถนาอยากมีบุตรที่สมบูรณ์ แข็งแรง มาเติมเต็มความสุขของครอบครัว จากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่มีประสบการณ์ด้านการให้บริการทางการแพทย์ผู้มีปัญหามีบุตรยากมากกว่า 23 ปี ขณะเดียวกัน GFC มีการนำเทคโนโลยี Early Embryo Viability Assessment (EEVA) ซึ่งเป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทยในปี 2563 โดยได้พัฒนาให้สามารถแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับตัวอ่อน และวิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ

GFC มีบริษัทย่อย 2 บริษัทที่ถือหุ้น 99.99% ได้แก่ 1). บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (GSM) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS ) และ 2). บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (GFCFG) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 160 ล้านหุ้น มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1). การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI 3). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI 4). การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน NGS และ 5). การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ สำหรับลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติ ที่สนใจอยากมีบุตร

ขณะที่ นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า GFC จัดเป็นหุ้นที่น่าลงทุนประเภท Growth Stock ที่สามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่รายได้มีอัตราเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 13.37% จากปี 63-65 และงวด 3 เดือนปี 66 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 214.42 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 275.91 ล้านบาท และ 86.11 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ จะสอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งกลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก

ขณะที่กำไรสุทธิปี 63-65 และงวด 3 เดือนปี 66 เท่ากับ 66.55 ล้านบาท 69.63 ล้านบาท 65.68 ล้านบาท และ 18.93 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่อัตราส่วน ROE และอัตราส่วน ROA สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงกว่าค่าเฉลี่ย และสูงสุดถึง 72.58% อย่างไรก็ตาม GFC พิสูจน์ถึงศักยภาพและความพร้อมก้าวสู่ธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควบคู่กับแผนการขยายสาขาเพิ่มอีก 2 แห่งหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ ยิ่งเป็นการสร้าง New S-Curve ใหม่ให้กับบริษัทฯในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top