INTERVIEW: EEC พร้อมเปิดรับคลื่นลงทุน EV จากจีน!!

https://youtu.be/RvHQtaNPs_U

ช่วงเวลานี้ ถ้าพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ในไทยคงจะได้เห็นกันมากขึ้นในท้องถนนบ้านเรา และมีหลายค่ายรถ EV จากจีนขยายการลงทุนเข้ามาในไทยมากขึ้น และพื้นที่ที่พวกเขาเล็งมาตั้งฐานการผลิตก็ไม่ใช่ที่ไหน เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่ไทยตั้งใจให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีหมุดหมาย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายรับเทรนด์ของโลก หนึ่งในนั้น คืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า ในปีนี้ กลุ่มรถ EV เข้ามาขยายฐานการผลิตในไทยมาก ที่เป็นผลพวงจากการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อลดภาวะโลกร้อน ที่มีเป้าหมายในปี 2030 ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีการเร่งให้ลดการใช้รถสันดาป ลดการปล่อยคาร์บอน โดยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV แทนการใช้รถยนต์สันดาปที่มีอยู่ลายสิบล้านคันในโลก ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ที่จะเห็นการผลิตรถ EV อย่างมโหฬาร

จีน ที่มีนวัตกรรมการผลิตรถไฟฟ้า นอกเหนือจากผลิตและใช้ในประเทศแล้ว ก็ได้ขยายการผลิตออกสู่ต่างประเทศ เพื่อส่งออกไปตลาดโลกมากขึ้น และไทย ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งในการขยายฐานการผลิตของรถ EV จีน ที่ผ่านมาค่ายรถ EV จากจีนเข้ามาไทยกันมาก ซึ่งปัจจุบันก็มี 6-7 ค่ายใหญ่จากจีนเข้ามาไทยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ รถตู้ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนรถไฟฟ้า ที่กำลังจะทยอยเข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งยังมีธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว ก็จะเห็นมาลงทุนครบวงจรกันมากขึ้นในไทย

นอกจากจีนมองตลาดไทยแล้วยังจะใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก เนื่องจากไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ และการมีที่ตั้งโรงงานในพื้นที่ EEC ก็จะมีท่าเรือแหลมฉบังที่ส่งออกทางเรือได้สะดวก

“ทำไมถึงเป็นไทย เพราะไทยเป็นดีทรอยในเอเชียมานานที่ทำรถใช้น้ำมัน และการส่งออกเป็นล้านคัน ก็มาใช้ท่าเรือเราส่งออก จากที่เปลี่ยนจากรถปกติเป็นรถไฟฟ้าแทน ก็จะมีดีมานด์รถไฟฟ้ามากขึ้น”

*จัดทำแผน 5 ปี ระยะ 2 กวาดเงินลงทุนเพิ่มเป็น 2.2 ล้านล้านบาท

เลขาธิการ EEC กล่าวว่า EEC อยู่ระหว่างการทำแผนภาพรวมใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 66-70) หรือระยที่ 2 ซึ่งแผนงานยังคงดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่จัดตั้ง EEC มาตั้งแต่แรก มี 12 อุตสหกรรมเป้าหมาย หวังผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแผน 5 ปี ระยะ 2 นี้ตั้งเป้าไว้ 2.2 ล้านล้านบาท จากแผน 5 ปี ระยะ 1 ที่มีเม็ดเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากเป้าเดิม 1.7 ล้านล้านบาท

“ตัวที่สำคัญที่เป็นลายแทง คือแผนภาพรวมการพัฒนา ซึ่งทำทุกรอบ 5 ปี กำลังอยุ่ขั้นตอนรับฟังความเห็นรอบแรกแล้ว และจะจัดรอบสองในพื้นที่อีอีซี”

โดยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศใน EEC ช่วง 5 ปีแรก มาจากญี่ปุ่นมากที่สุด 14% รองลงมาเป็นจีน 11% แต่ถ้ารวมฮ่องกง 4% รวมเป็น 15% ที่เหลือมาจากฝั่งยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น รายละประมาณ 4% โดยภาพรวมนักลงทุนจากเอเชียเข้ามาลงทุนมากกว่ายุโรป อเมริกา

ทั้งนี้ EEC จะเคาะแผนภาพรวม 5 ปี ระยะ 2 เพื่อรอเสนอให้กับรัฐบาลใหม่

*เร่งเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานใน EEC หลังล่าช้า 1 ปี

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นหัวใจสำคัญในการจัดตั้ง EEC เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทาง และเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ พร้อมรองรับธุรกิจและการค้า

นายจุฬา กล่าวถึงความคืบหน้าของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน EEC ได้แก่

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) โดยปัจจุบันล่าช้ากว่าแผนไป 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนการลงทุนไม่ได้เป็นไปตามเป้า ดังนั้นจะมีการแก้ไขสัญญาว่าระหว่างอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างโควิด-19 จะมีการแก้ไขสัญญาได้กรณีที่ไม่ใช่ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด ก็จะเปิดทางให้มีการเจรจาแก้ไขสัญญาได้ เพื่อให้ดำเนินการโครงการต่อไปได้ เพราะเป็นสัญญาระยะยาวที่เป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างว่าจะแก้ไขถ้อยคำในสัญญาอย่างไร แต่ในหลักการ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการยนโยบาย EEC แล้วที่เห็นว่าเป็นไปได้ที่จะแก้ไขทั่วๆ ไป

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เอกชนร่วมลงทุน) และสำนักงานอัยการสูงสุด จะต้องตกลงกันว่าแก้ไขถ้อยคำอย่างไร จากนั้นก็จะต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ซึ่งรอครม.ชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม งานก่อสร้างก็สามารถเร่งรัดให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดหรือใกล้เคียงได้

2.โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก จะมีก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารรองรับ 60 ล้านคน/ปี โดยกองทัพเรือจะเริ่มประกวดราคาก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ได้ในเดือนส.ค.-ก.ย.66 คาดเริ่มก่อสร้างต้นปี 67 ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้วย

3.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 18 ล้านตู้ต่อปี และรถยนต์จำนวน 3 ล้านคันต่อปี พร้อมทั้งติดตั้งระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอินโดจีน และประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมก้าวสู่การเป็นท่าเรือระดับโลก (World-Class Port) ซึ่งปัจจุบันล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 ปี โดยอยู่ระหว่างการถมทะเลที่ดำเนินการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งจะเร่งรัด และส่งมอบให้เอกชนในปลายปี 67

4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการขนส่งได้ 31 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันดำเนินการได้ตามแผน

*MRO การบินไทยยังได้สิทธิไหม?

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) นายจุฬา กล่าวว่า ในการจัดตั้ง EEC ได้เล็งเห็นธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) เป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะดำเนินธุรกิจนี้ และ EEC ให้สิทธิกับ บมจ.การบินไทย (THAI) ซึ่งในขณะนั้น มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ MRO แต่ปัจจุบัน THAI มีข้อจำกัด จากที่บริษัทเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้การลงทุนธุรกิจเสริมอาจจะมีข้อจำกัด และปัจจุบันสถานะ THAI ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วสิทธิยังคงอยู่หรือไม่

อย่างไรก็ดี EEC จะเร่งนำมาพิจารณา เพราะมองว่าไม่สามารถรอต่อไปได้ ปัจจุบันธุรกิจการบินเริ่มกลับมา และมีแนวโน้มการใช้บริการการซ่อมบำรุงอากาศยานจะมีมากขึ้น ขณะที่เห็นว่าสนามบินอู่ตะเภามีความได้เปรียบที่จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้ ดังนั้น สำนักงาน EEC คงต้องหารือกับ THAI เพื่อหาข้อสรุปและเดินหน้าธุรกิจ MRO ซึ่งหาก THAI ทำไม่ไหว ก็จะเปิดให้เอกชนรายอื่นแข่งขันเข้ามาดำเนินการ โดยปัจจุบันมีเอกชนต่างประเทศ 3-4 รายที่แสดงความสนใจเข้ามา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top