“รังสิมันต์” ลั่น ก้าวไกล เดินหน้าเสนอญัตติทบทวนมติรัฐสภาปมโหวตนายกฯ

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังศาลไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้วินิจฉัยมติที่ประชุมรัฐสภาห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำในสมัยประชุมเดียวกัน ว่า ศาลไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง แต่เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับเทคนิคและกระบวนการ ทั้งยังชี้ด้วยว่าผู้ร้องเรียน ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลยืนยันตลอดว่า กรณีเช่นนี้รัฐสภาควรจะพิจารณากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัย จึงเป็นที่มาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. พรรคก้าวไกลเสนอญัตติให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งญัตตินั้นมีผู้รับรองถูกต้อง ดังนั้นโอกาสที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป พรรคก้าวไกล ยืนยันที่จะเสนอญัตติดังกล่าว

“การเป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าเสนอแล้วสุดท้ายในรอบแรกไม่ผ่าน แล้วจะมาบอกว่าไม่มีสถานะนั้นแล้ว การพิจารณากันแบบนี้ เป็นการเล่นการเมืองโดยไม่พิจารณาบนข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย”

นายรังสิมันต์ กล่าว

ส่วนโอกาสที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง จะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราไม่ยื่นแน่นอน เพราะยืนยันมาโดยตลอดว่าเรื่องนี้เป็นกิจการของสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามา จึงเป็นที่มาที่เราอยากใช้กลไกสภาอย่างถูกต้อง

สำหรับเสียงสนับสนุนจะเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากพันธมิตรร่วมรัฐบาลได้แยกวงไปแล้วนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ และไม่ได้เสนอเพื่อตัวเอง หรือเพื่อให้นายพิธากลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกด้วยซ้ำ เพราะวันนี้ นายพิธาไม่ได้อยู่ในจุดนั้นแล้ว

“การเสนอของเรา เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง แคนดิเดตนายกฯ จะเป็นใคร ล้วนได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น ยกเว้นว่าบางฝ่ายจะวางหมากให้การเสนอแคนดิเดตเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว ยกตัวอย่างเช่น พรรคก้าวไกลไม่ผ่าน และอีกบางพรรคไม่ผ่าน แล้วหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือเป็นการปูทางไปสู่นายกฯ คนนอก แต่นาทีนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้ง 2 สภาเท่าที่มีอยู่”

นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามถึงญัตติที่พรรคก้าวไกลยืนยันจะเสนอต่อจากการประชุมรัฐสภาคราวที่แล้ว แต่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ใช้อำนาจประธานวินิจฉัยให้ตกไปแล้วนั้น นายรังสิมันต์ ยอมรับว่า ตอนนี้มีปัญหาสถานะญัตติว่าคืออะไร เพราะโดยกระบวนการมีผู้รับรองถูกต้อง รวมถึงญัตติของนายสมชาย แสวงการ สว. ด้วย โดยหลักก็ต้องพิจารณาต่อไป ไม่มีอำนาจในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่จะให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัย ซึ่งในวันประชุมครั้งนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ไม่ได้อ้างข้อกฎหมาย ได้แต่ชี้แจงเพียงว่าขอให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เข้าใจว่าเป็นเจตนาหวังดีของนายวันมูหะมัดนอร์ว่าให้กระบวนการมีความชัดเจนก่อนแล้วจึงค่อยพิจารณา

“รอคุยกับประธานรัฐสภา ตามปกติจะต้องนัดพรรคการเมืองคุยกันแล้วหารือ เบื้องต้นถ้าพิจารณาจากการประชุมครั้งที่แล้ว ผมเองเสนอ และโดยหลักต้องพิจารณาญัตติของผมก่อน แต่ว่ามันก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของประธาน ที่ตกลงแล้วมีการถกเถียงกันแล้วนำสู่การปิดประชุม มีสถานะอย่างไร ซึ่งพวกเราเชื่อว่ามีผู้รับรองถูกต้อง เป็นญัตติแล้ว”

นายรังสิมันต์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top