นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 35.45 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.38 บาท/ดอลลาร์ หลังดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด ขณะที่ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของจีน ซึ่งส่งผลให้มีกระแสเงินทุนระหว่างประเทศไหลออกจากภูมิภาค
ส่วนปัจจัยในประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองช่วงนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก ยกเว้นจะเกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล
“บาทอ่อนค่าจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคและทิศทางตลาดโลก โดยเปิดตลาดเช้านี้ทำนิวไฮในรอบ 6 สัปดาห์” นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.30 – 35.55 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 145.57 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 145.55/58 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0899 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0938/0942 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 35.296 บาท/ดอลลาร์
- บีโอไอโว รัฐจีนไฟเขียวยักษ์ใหญ่ยานยนต์ไฟฟ้าลงทุนไทย จ่อยื่นขอรับส่งเสริมฯ พร้อมเดินเครื่องเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท ปักหมุดไทยฐานผลิตหลักป้อนตลาดอาเซียนและตลาดอื่นๆ
- “หอการค้าไทย” มั่นใจตั้งรัฐบาลใหม่ไม่เกิน ส.ค.-ก.ย.นี้ กางงานด่วนเร่งอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที ดูแลค่าครองชีพปัญหาปากท้อง ชี้แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาททำได้แต่ต้องคุ้มค่าตรงจุด เปิดสเปกขุนคลังต้องเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ เสนอนโยบายกระตุ้น ศก. ตอบโจทย์ประชาชน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 3.17% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้
- ฟิทช์ เรทติ้งส์ ขู่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (15 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกพุ่งขึ้นมากกว่าคาด ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีกเป็นเวลานานขึ้น
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 7 ในวันอังคาร (15 ส.ค.) และปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด
- นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 25-26 ก.ค.ในวันนี้ รวมทั้งรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึงตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 66)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท