นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีคดีหุ้น บมจ.ไอทีวี (ITV) ว่า วานนี้ (14 ส.ค.) มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติว่าจะให้ยกคำร้องตน ในคดีอาญา มาตรา 151 เรื่องการรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร จากการถือหุ้นไอทีวี โดยคณะกรรมการสืบสวนฯ มีเหตุผลสำคัญว่า บมจ.ไอทีวี ไม่มีการดำเนินกิจการอยู่ และไม่มีรายได้จากการเป็นสื่อ จึงไม่ถือว่าตนมีความผิด
ทั้งนี้ ขอยืนยันอีกครั้งว่า คดีหุ้นไอทีวีของตนนั้น เป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นการจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ เพราะตนถือหุ้นนี้มาตลอดเวลาที่ทำงานการเมืองเป็น สส. มา 4 ปี แต่เพิ่งจะเกิดการร้องเรียนกันขึ้นในเวลาที่ตนได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการเสนอชื่อตนต่อสภาฯ ไม่กี่วัน รวมถึงมีหลักฐานความผิดปกติมากมายที่บ่งชี้ว่า มีความพยายามปลุกปั้นให้ บมจ.ไอทีวี ซึ่งเลิกกิจการสื่อไปนานกว่า 10 ปี กลับมาเป็น “หุ้นสื่อ” ให้ได้
นายพิธา ระบุว่า วันนี้ที่มีการเปิดเผยมติของคณะกรรมการไต่สวนออกสู่สาธารณะแล้วว่า ตนไม่ผิด ทำให้มีประเด็นคำถามที่ขอถามไปยัง กกต. ดังนี้ คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดังกล่าว ซึ่งทำคดีมาตรา 151 (คดีอาญา) มีมติก่อนที่ กกต. จะพิจารณาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า กกต. จะอ้างว่า การพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เป็นคนละกระบวนการกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการสืบสวนฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่รวบรวมพยานหลักฐาน และเรียกพยานบุคคลมาสอบข้อเท็จจริง ได้เห็นข้อเท็จจริงว่า ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อ และมิได้มีรายได้จากกิจการสื่อมวลชน ในขณะที่ตนสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี กกต. กลับยังยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเลยข้อเท็จจริงบางประการ ที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้หยิบยกมาพิจารณา และละเลยแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยวางหลักเรื่องการมีรายได้และที่มาของรายได้เป็นเกณฑ์ว่าบริษัทใดเป็นสื่อหรือไม่ การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีมติว่า หุ้นไอทีวีไม่ใช่หุ้นสื่อ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็สอดรับกับความเห็นของประชาชนทั่วไปอีกด้วย
ดังนั้น การสั่งให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ไอทีวี และอินทัช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ล้วนแต่มีเอกสารงบการเงินยืนยันว่า ไอทีวีหยุดประกอบกิจการ และไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ ประกอบกับคดีหุ้นสื่อของ สส. (นอกจากคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ปี 63 ประมาณ 60 คน ศาลก็ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในคดีตน กลับสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตนจึงขอให้สังคมพิจารณาว่าการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของตน มีความเป็นธรรมหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 66)
Tags: ITV, กกต., การเมือง, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคก้าวไกล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, หุ้น ITV, หุ้นไอทีวี, ไอทีวี