น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. …) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการ เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ มีความปลอดภัยต่อการใช้สอย เทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่า และมีจำนวนห้องน้ำและห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร ครั้งที่ 1490-3/65 มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และกระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รวมทั้งได้จัดทำสรุป ผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงนี้ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ.2537) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ.2551) ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดบางประการด้านระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย และข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบและจำนวนของห้องน้ำ และห้องส้วม ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของอาคารแต่ละประเภทในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ มีความปลอดภัยต่อการใช้สอย เทียบเท่าหรือมากกว่าอาคารเก่า และมีจำนวนห้องน้าห้องส้วมเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ เช่น
1. กำหนดคำนิยาม เช่น คำว่า “อาคารสาธารณะ”, “การกั้นแยก” “สุขภัณฑ์”, “ที่ปัสสาวะ” โดยกำหนดบทนิยามให้เป็นมาตรฐานใกล้เคียงกับศัพท์สามัญ โดยสัมพันธ์กับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ใน Building Code เช่น “สุขภัณฑ์” = fixture, plumbing fixture
2. ตัดและเพิ่มประเภทอาคาร เช่น ตัดอาคารประเภท “โรงมหรสพ และสถานบริการ” เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะ หรือมีความซ้ำซ้อน และเพิ่มอาคารประเภท “คลังสินค้า และอาคารชุด” ที่เห็นว่าจำเป็นต้องมีการควบคุม
3. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน จึงแก้ไขข้อความเรื่องระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เช่น ระบบสัญญาณเตือนฯ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับอัตโนมัติ หรืออุปกรณ์แจ้งเหตุ ที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติ และระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ, เพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องการอุดปิดล้อมช่องท่อ และช่องว่างระหว่างท่อที่ผ่านพื้นหรือผนัง เพื่อป้องกันไม่ให้ควันและไฟลุกลาม และเพิ่มเติมข้อกำหนดเรื่องที่ตั้งของห้องน้ำ ต้องจัดอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้สะดวก โดยทางเดินสู่ห้องน้ำ ต้องไม่ผ่านเข้าไปในพื้นที่ห้องครัว และไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือกิจกรรมอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และมีระยะทางเดินจากจุดใดๆ ในอาคารตามที่กำหนด เช่น ศูนย์การค้าไม่เกิน 90 เมตร
4. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น กำหนดให้มีการกั้นแยกบางส่วนของอาคาร (เช่น อาคารสาธารณะ คลังสินค้า ที่มีห้องเก็บสิ่งของ หรือวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้ ห้องเครื่อง หรือห้องควบคุมระบบอุปกรณ์ของอาคาร ต้องจัดให้มีการกั้นแยกพื้นที่) โดยมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ และกำหนดวิธีคิดจำนวนที่สำหรับที่ปัสสาวะ กรณีมีลักษณะเป็นราง
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากจะห่วงใยในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำเนินการต่อเนื่องในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อลดภาระของประชาชน ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จึงยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อลดภาระประชาชน เนื่องจากกฎหมายเดิมสร้างภาระให้แก่ประชาชนมากเกินไป
อาทิ การกำหนดให้ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้อาคารดังกล่าว ต้องใช้ระบบสัญญาณเตือนฯ แบบที่มีคุณสมบัติทั้งสามารถตรวจจับควัน และสามารถส่งสัญญาณเตือนได้ภายในเครื่องเดียวกันไว้อยู่แล้ว (แบบ 2 in 1) จึงไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบแจ้งเหตุแบบใช้มือไว้อีก ซึ่งทำให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยไม่จำเป็น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 66)
Tags: ทิพานัน ศิริชนะ, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี