พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงถึงการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า เนื่องจากกรมบัญชีกลางเห็นว่าที่ผ่านมา ระเบียบดังกล่าวจะมีปัญหากับผู้ที่มีรายได้อื่นๆ เช่น ผู้รับบำนาญจนต้องเรียกเงินคืน ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่าระเบียบที่ออกมานี้ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าประชาชนจะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ซึ่งรัฐบาลต้องช่วยเหลือ ดังนั้นการกำหนดว่าจะจ่ายให้ใครตามระเบียบเดิมนั้น ทำไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการออกระเบียบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้
รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพจะต้องให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอย่างไรจึงจะเป็นธรรม ถ้าจะให้ทั่วถึงและจ่ายทุกคนก็ได้ หรือจะกำหนดกลุ่มคนที่มีรายได้มาก ก็อาจจะไม่ต้องจ่าย ซึ่งระเบียบนี้ก็เปิดทางไว้
“ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่กำหนด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ยังต้องจ่ายแบบเดิม ทั้งผู้ที่ได้รับอยู่แล้ว และผู้ที่จะมีอายุ 60 ปีใหม่ สามารถจ่ายตามเกณฑ์เดิมได้” พล.อ.อนุพงษ์ ระบุ
ส่วนแนวทางการพิจารณาจะเป็นอย่างไรนั้น รมว.มหาดไทย กล่าวว่า เป็นอำนาจของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ รัฐบาลชุดนี้ไม่มีอำนาจที่จะไปดำเนินการ เพราะจะผูกพันไปยังรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณมาก เรื่องนี้รัฐบาลได้วางแนวทางไว้หมดแล้ว รัฐบาลใหม่มาจะทำอย่างไรก็สามารถทำได้หมด ตอนนี้ผู้สูงอายุเดิมยังคงได้รับเงินตามเดิม ส่วนผู้สูงอายุใหม่ก็สามารถรับได้ตามเกณฑ์เดิม ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“เรื่องนี้ ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะมองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญ เป็นธรรม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต หนทางเราเตรียมไว้ให้แล้ว ออกทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 66)
Tags: กระทรวงมหาดไทย, รัฐบาล, อนุพงษ์ เผ่าจินดา, เบี้ยผู้สูงอายุ, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ