กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากกรณีที่แก๊งมิจฉาชีพ คอลเซ็นเตอร์ กำลังระบาดอย่างหนัก มีหลอกลวงให้หลงเชื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น อ้างชื่อหน่วยงานภาครัฐ หรือการส่ง SMS หลอกลวง ล่าสุดมิจฉาชีพมีการหลอกลวงรูปแบบใหม่ มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) เลียนเสียงนักศึกษาหรือผู้เสียหาย หลอกให้ผู้ปกครองหลงเชื่อว่านักศึกษาถูกเรียกค่าไถ่ พร้อมขู่โอนเงินเรียกค่าไถ่
ดีอีเอส แจ้งเตือนภัยขอให้ผู้ปกครองอย่าหลงเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้รูปแบบพฤติการณ์เรียกค่าไถ่เสมือน โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์หาพ่อแม่หรือผู้ปกครอง พร้อมส่งส่งรูปบุตรหลานไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และมิจฉาชีพจะหลอกว่าลูกหลานถูกเรียกค่าไถ่ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการหลอกสองชั้น
โดยชั้นแรก มิจฉาชีพจะใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี อยู่เพียงลำพัง โดยมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อข่มขู่ทำให้ผู้เสียหายตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่างๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน
จากนั้นมิจฉาชีพจะทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่กลุ่มมิจฉาชีพจัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของนักศึกษาไป หากไม่มีเงิน กลุ่มมิจฉาชีพจะแนะนำให้นักศึกษาย้ายหรือออกจากห้องพัก หรือที่พักปัจจุบัน และให้ผู้เสียหายไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือกและเทปกาวจากร้านค้า เพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับมิจฉาชีพ และสั่งให้นักศึกษาทำทีปิดโทรศัพท์ และให้นักศึกษาใช้เทปกาวและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง ถ่ายคลิปวิดีโอโดยใช้เครื่องของนักศึกษาเอง เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้มิจฉาชีพทางแอปพลิเคชันหรือทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับคลิปหรือภาพถ่ายแล้วมิจฉาชีพจะนำรูปภาพหรือเสียงปลอมของบุตรหลาน (AI Voice) ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการเลียนเสียงบุตรหลาน
จากนั้น การหลอกชั้นที่สอง มิจฉาชีพจะโทรศัพท์หลอกพ่อแม่และผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่ โดยจะส่งคลิปไปให้พ่อแม่และผู้ปกครอง เมื่อพ่อแม่และผู้ปกครองตกใจ ที่ได้รับข้อมูลดังกล่าว มิจฉาชีพจะแจ้งพ่อแม่และผู้ปกครองให้โอนเงินค่าไถ่โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1. พ่อแม่และผู้ปกครองโอนเงินไปให้นักศึกษา แล้วนักศึกษาโอนเงินต่อไปให้มิจฉาชีพ และ 2. พ่อแม่และผู้ปกครองโอนเงินให้มิจฉาชีพโดยตรง
ดังนั้นเพื่อป้องกันการหลอกลวงของมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดีอีเอส ขอให้นักศึกษา พ่อแม่ และผู้ปกครอง ไม่ต้องรับสายโทรศัพท์ จากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยและหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย +697 +698 ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยเด็ดขาด
**เตือนภัยและแนวทางป้องกันสำหรับ นักเรียน นักศึกษา
- สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้า ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์
- สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับ แล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่ (มิจฉาชีพสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
- หากมิจฉาชีพข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
- หากมิจฉาชีพให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง
- โหลดแอปฯ Whoscall ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที
- หากมิจฉาชีพส่งเอกสารมาข่มขู่ ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-866-3000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง
**เตือนภัยสำหรับผู้ปกครอง
- หากมิจฉาชีพข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือโทรสายด่วน 191 หรือ 1441 และเบอร์ 081-866-3000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี
- ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็กลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่
สำหรับกรณี เรียกค่าไถ่เสมือนนี้ ในต่างประเทศ เรียกว่า Virtual Kidnapping Ransom Scam หรือ fake kidnapping หรือ Kidnapping scam
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 66)
Tags: มิจฉาชีพ, เตือนภัย, เรียกค่าไถ่