รถไฟสายสีแดงเปิดเร็วขึ้นตั้งแต่ตี 5 -เพิ่มความถี่เหลือ 10 นาที เริ่ม 15 ส.ค.

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป บริษัทฯจะปรับเวลาเปิดให้บริการเร็วขึ้น จากเดิมเปิดให้บริการในเวลา 05.30 น. เปลี่ยนเป็นเปิดให้บริการในเวลา 05.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถรองรับผู้ที่เดินทางโดยสายการบินต่างๆที่จะเดินทางมาถึงสนามบินดอนเมืองในช่วงเช้ามืด หรือไฟลท์แรก ใช้รถไฟฟ้าเดินทางสู่สนามบิน

นอกจากนี้ จะปรับเพิ่มความถี่ในการให้เดินรถให้เร็วขึ้น เพื่อลดเวลาในการรอคอยขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงช่วยดึงดูดผู้โดยสารให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งจากผลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารก็มีความต้องการให้รถไฟสายสีแดงปรับเพิ่มความถี่ให้เร็วขึ้นด้วย โดยสายเหนือ (ธานีรัถยา) ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (Peak) เช้า เวลา 07.00 – 09.30 น และเย็นเวลา 17.00 – 19.30 น. จะปรับเพิ่มความถี่จากเดิม 12 นาทีต่อขบวน เป็น 10 นาทีต่อขบวน ในช่วงนอกชั่วโมงเร่งด่วน (Off Peak) จะปรับเพิ่มความถี่จากเดิม 20 นาทีต่อขบวน เป็น 15 นาทีต่อขบวน และสายตะวันตก (นครวิถี) ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (Peak) ให้บริการความถี่เท่าเดิมที่ 20 นาทีต่อขบวน แต่จะปรับเพิ่มความถี่ในช่วง นอกชั่วโมงเร่งด่วน (Off Peak) จากเดิม 30 นาทีต่อขบวน เป็น 20 นาทีต่อขบวน ซึ่งสายตลิ่งชันยังมีข้อจำกัด การเพิ่มความถี่ เนื่องจาก ยังมีการใช้ทางร่วมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

นายสุเทพกล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสาร ใช้บริการ เฉลี่ยวันละ 2.3 – 2.4 หมื่นคน หากเป็นวันศุกร์ผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นคน ส่วนในปี 67 มีการคาดการณ์ว่าผู้ใช้บริการจะเพิ่มสูงขึ้น 10% โดยมีผู้โดยสารใช้บริการรวมแล้วมากกว่า 8 ล้านคน

“ปี2565 สายสีแดงมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย อยู่ที่ 10,000 คนต่อวัน ขณะที่ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะเฉลี่ยที่ 20,000 คนต่อวัน ซึ่งจากที่กรมรางศึกษา ประมาณการเติบโตผู้โดยสาร ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ7-8% โดยในปี 2567 รฟฟท. ตั้งเป้า ประมาณผูโดยสารเติบโตที่ 15% ซึ่งเป็นความท้าทายในการดำเนินการให้บริการและเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความถี่ในการเดินรถ”นายสุเทพกล่าว

นอกจากนี้ จะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเช่น สถานีดอนเมืองซึ่งเชื่อมต่อจากท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยได้หารือกับบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เช่น เพิ่มป้ายสัญลักษณ์บอกทางต่างๆ แจ้งประชาสัมพันธ์การให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงไว้ที่บริเวณสายพานลำเลียงกระเป๋า เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับทราบข้อมูลตารางการเดินรถ จุดเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่างๆ และเพิ่มข้อมูลของรถไฟฟ้าสายสีแดงในแอปพลิเคชันของ AOT

ส่วน ความคืบหน้าทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk)ที่เชื่อมต่อกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดและรอตรวจสอบ และทางเดินเชื่อมต่อที่สถานีหลักสี่กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรีคาดว่าจะเปิดให้บริการกลางเดือนส.ค. 66

ในด้านกิจกรรมส่งเสริมการตลาด บริษัทฯมีการจัดแคมเปญต่างๆเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนและผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดแต่ละครั้ง มีผู้ให้ความสนใจและร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และเร็วๆนี้ บริษัทฯเตรียมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2567 ด้วยการเปิดตัวบัตรโดยสารลายใหม่สุดพิเศษ สำหรับนักเรียน/นักศึกษา จำนวน 2 ลาย เนื่องจากผลการสำรวจผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในปัจจุบัน ชี้ว่า กลุ่มช่วงวัยนักเรียนและนักศึกษา คือกลุ่มที่ใช้บริการรถไฟฟ้ามากเป็นลำดับต้นๆ จากกลุ่มผู้ใช้บริการทั้งหมด

นายสุเทพกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ผ่านมา บริษัทฯได้มุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการเพื่อเป็นผู้นำในการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานในระดับสากล ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ นับตั้งแต่การให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มาจนถึงการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งมีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ จนสามารถผ่านการรับรองคุณภาพ ISO 9001 : 2015 ขอบเขต : วิศวกรรมและซ่อมบำรุงและขอบเขต : งานปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า ที่ผ่านการรับรองจาก BV (Bureau Veritas) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านการตรวจประเมินและออกใบรับรองในด้านคุณภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในระดับโลก และยังได้ผ่านการรับรอง ISO/IEC 27001 : 2013 ระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ (Information Security Management Systems : ISMS) ขอบเขตระบบบริหาร จัดการ : ระบบการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลที่ใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงานของ Back office ซึ่งรวมถึง (MIS Server เครือข่ายและระบบสำรองข้อมูล) ซึ่งได้รับการรับรองจาก สถาบันมาตรฐานอังกฤษ (BSI.)

ในปัจจุบันรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีสถิติความตรงต่อเวลา ความน่าเชื่อถือ และความพร้อมของขบวนรถตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 99.45% , 99.52% และ 100% ตามลำดับ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top