นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 เทียบกับไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 70,755 ล้านบาท ลดลง 5,005 ล้านบาท หรือลดลง 7% สาเหตุหลักจากราคาขายเฉลี่ยลดลง 6% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง และปริมาณขายลดลง 1%
โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,168 ล้านบาท หรือ 6.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 41 เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม (Net Inventory Loss) 961 ล้านบาท หรือ 1.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 3,207 ล้านบาท หรือ 5.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 2,135 ล้านบาท หรือ 3.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ทำให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 110 ล้านบาท ลดลง 1,910 ล้านบาท หรือร้อยละ 95 และผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2566 ขาดทุนสุทธิ 2,246 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 301 ล้านบาท
นายกฤษณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 2/66 ว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีราคาเฉลี่ย 80.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แม้ว่ากลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตเพิ่มอีกวันละ 1.66 ล้านบาร์เรลไปถึงสิ้นปี 2567 เพื่อพยุงราคาน้ำมันประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีก็ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากความต้องการในประเทศจีนไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้
สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 146,515 ล้านบาท ลดลง 17% เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 26 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 โดยมี Market GIM อยู่ที่ 11,252 ล้านบาท หรือ 9.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 32 เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับตัวลดลง และบันทึก Net Inventory Loss 2,703 ล้านบาท หรือ 2.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม (Net Inventory Gain) 4,488 ล้านบาท หรือ 3.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ทำให้บริษัทฯ มี Accounting GIM จำนวน 8,549 ล้านบาท หรือ 7.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 12,606 ล้านบาท หรือ 10.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ มี EBITDA จำนวน 2,130 ล้านบาท ลดลง 12,491 ล้านบาท หรือร้อยละ 85 และผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 1,945 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 5,334 ล้านบาท
นายกฤษณ์ คาดการณ์ตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2566 มีแนวโน้มปริมาณการใช้น้ำมันโลกเพิ่มขึ้น จากการเดินทาง ช่วงฤดูร้อนของประเทศแถบซีกโลกเหนือ แต่อาจมีปัจจัยกดดัน เช่น เฟดขึ้นดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ ทั้งนี้ การลดกำลังผลิตของโอเปก 4.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงราคาน้ำมัน ส่วนแนวโน้มตลาดปิโตรเคมีไตรมาส 3/2566 คาดว่ายังทรงตัว เพราะตลาดหลักจากจีนมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเงินฝืดในจีนทำให้ผู้ซื้อส่วนใหญ่รอดูสถานการณ์ หรือซื้อเท่าที่จำเป็น ขณะที่ส่วนต่างราคาอาจถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่อาจจะสูงขึ้น รวมถึงจีนและเวียดนามที่อาจจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิต แต่ช่วงปลายไตรมาสนี้อาจเริ่มเห็นสัญญานการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลผลิต Manufacturing Season ของธุรกิจปิโตรเคมีที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ปลายทางจะเพิ่มขึ้นก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี
นายกฤษณ์ กล่าวด้วยว่า IRPC และบริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ จำกัด (BFPL) ร่วมดำเนินการเปิดคลังน้ำมันแห่งใหม่ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อขยายเครือข่ายขนส่งน้ำมันทางท่อความยาว 99 กิโลเมตร รองรับความต้องการใช้พลังงานภาคขนส่งในภาคกลางและภาคเหนือ ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมเวลา ลดค่าใช้จ่าย และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคขนส่ง นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังร่วมมือกับ บริษัท เบเยอร์ จำกัด ขยายตลาดเพื่อรุกธุรกิจนวัตกรรมสีและสารเคลือบผิวมาตรฐานโลกเป็นครั้งแรกของประเทศ จึงมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรง ช่วยยืดอายุการใช้งานโครงสร้างเหล็กถึงสามเท่า
บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขายหุ้นกู้และหุ้นกู้ดิจิทัล มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ เป็นการเสริมความแข็งแกร่ง สร้างความสมดุลของการบริหารจัดการเงินทุนและต้นทุนทางการเงินอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเติบโตต่อไป
IRPC มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน โดยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย Asian Excellence Award 2023 ได้แก่ รางวัลซีอีโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Asia’s Best CEO) รางวัลซีเอฟโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Asia’s Best CFO) รางวัลบริษัทนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Investor Relations Company) และรางวัลความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Best Environmental Responsibility) และบริษัทฯ ยังได้รับรางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 20223 หรือ AREA ในสาขา Circular Economy Leadership ภายใต้โครงการ From Wastes to Walk ซึ่งเป็นการบริหารจัดการชิ้นส่วนพลาสติกเหลือใช้ นำกลับเข้ากระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นอุปกรณ์เสริมร่างกาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 66)
Tags: IRPC, กฤษณ์ อิ่มแสง, หุ้นไทย, ไออาร์พีซี