เตือน 16 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก 12-18 ส.ค.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จากการติดตามสภาพอากาศพบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลาง พาดผ่านตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

โดย กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี ในช่วงวันที่ 12-18 ส.ค.66 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้

1.ภาคเหนือ

  • จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน แม่สาย และแม่ฟ้าหลวง)

  • จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย)

  • จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่สอด แม่ระมาด และอุ้มผาง)

  • จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) โดยเฉพาะจังหวัดน่านซึ่งปัจจุบันมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา และอำเภอแม่จริม ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก

2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี)

  • จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า เซกา ศรีวิไล พรเจริญ โซ่พิสัย และบึงโขงหลง)

  • จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม ท่าอุเทน ศรีสงคราม บ้านแพง นาทม และโพนสวรรค์)

  • จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง และอากาศอำนวย)

3.ภาคตะวันออก

  • จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง)

  • จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ และท่าใหม่)

  • จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ บ่อไร่ แหลมงอบเขาสมิง เกาะกูด และเกาะช้าง)

4.ภาคใต้

  • จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี)

  • จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี และท้ายเหมือง)

  • จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)

  • จังหวัดสตูล (อำเภอละงู)

  • จังหวัดตรัง (อำเภอกันตัง สิเกา และปะเหลียน)

ในการนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

  1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน

  2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top