In Focus: อินเดียระงับส่งออกข้าว โอกาสทองของตลาดข้าวไทย

ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอย่างอินเดียกำลังเผชิญกับสถานการณ์เอลนีโญและภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลอินเดียจึงตัดสินใจประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติ (Basmati) โดยมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อวันที่ 20 ก.ค. เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีปริมาณข้าวอย่างเพียงพอต่อการบริโภค และป้องกันการพุ่งขึ้นของราคาข้าวภายในประเทศ

อินเดียห้ามส่งออกข้าว ดันราคาตลาดโลกพุ่ง

อินเดียเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ด้วยยอดส่งออกข้าว 22.5 ล้านตันในปี 2565-2566 หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก โดยอินเดียส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ราคาข้าวในตลาดโลกดีดตัวขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตร นักวิเคราะห์ระบุว่าความเคลื่อนไหวของอินเดียในครั้งนี้จะทำให้อุปทานข้าวทั่วโลกตึงตัวอย่างมาก และกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง โดยประเทศจิบูตี ไลบีเรีย แกมเบีย กาตาร์ และคูเวต มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาข้าวของ FAO พุ่งขึ้น 2.8% สู่ระดับ 129.7 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2554 หรือในรอบเกือบ 12 ปี หลังอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติ

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าว โดยเมื่อเดือนต.ค. 2550 อินเดียเคยสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติมาแล้ว ก่อนที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราว และสั่งห้ามอีกครั้งในเดือนเม.ย. 2551 ส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งขึ้นสามเท่าในระยะเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม เมื่อ 16 ปีที่แล้วอินเดียยังไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ผลกระทบจึงเกิดขึ้นในวงจำกัด แต่การสั่งห้ามส่งออกข้าวครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างกว่ามาก โดยคาดว่าจะกระทบต่อประชากรหลายล้านคนทั่วโลก

ไทยมั่นใจส่งออกข้าวทะลุเป้า

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกดดันให้ผู้นำเข้าข้าวจากอินเดียต้องเริ่มหาทางพึ่งพาประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่รองลงมาอย่างไทยและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก กำลังเผชิญกับภาวะปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับต่ำ ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เรียกร้องให้เกษตรกรหันไปเพาะปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อยกว่า และสามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว

โดยนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสทนช. กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนในขณะนี้อยู่ต่ำกว่าระดับปกติประมาณ 40% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมระบุว่า การบริหารจัดการน้ำของไทยนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการบริโภคและน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชยืนต้นเป็นหลัก ส่วนข้าวถูกจัดอยู่ในหมวดพืชล้มลุก

แม้จะเผชิญกับภาวะปริมาณน้ำฝนในระดับต่ำ แต่กระทรวงพาณิชย์มองว่ากรณีที่อินเดียระงับการส่งออกข้าวถือเป็นโอกาสของตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะการส่งออกข้าวไปยังแอฟริกา ขณะเดียวกัน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย แสดงความมั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกข้าวไทยไปตลาดโลกยังดีอยู่ โดยจากตัวเลข 7 เดือน ไทยส่งออกข้าวไปแล้วกว่า 4.8 ล้านตัน และในช่วงเวลาที่เหลืออีก 5 เดือน คาดว่าจะส่งออกข้าวเฉลี่ยต่อเดือน 7-8 แสนตัน ซึ่งจะทำให้ยอดรวมการส่งออกข้าวไทยในปีนี้เกินกว่า 8 ล้านตันแน่นอน และคาดว่าราคารวมส่งออกข้าวไทยจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20 % มีความเป็นไปได้สูง

ซึ่งสอดคล้องกับที่นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เบื้องต้นในประเทศไม่มีปัญหาขาดแคลนข้าวแน่นอน เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าว และเหลือส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวมากกว่า โดยการส่งออกปีนี้น่าจะเกิน 8 ล้านตันที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ และราคาข้าวในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงในเรื่องของภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากกว่า โดยมีการประเมินกันว่าจะเกิดต่อเนื่อง 1-3 ปี ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวของไทย และทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยลดลง ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์เอลนีโญของโลกและประเทศไทย รวมทั้งติดตามการผลิต การตลาด ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นด้วย

เวียดนามไม่มีแผนระงับส่งออกข้าว

ในส่วนของเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก นายเหวียน ง็อก นาม ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม ยืนยันว่าเวียดนามไม่มีแผนที่จะระงับการส่งออกข้าวตามอินเดีย โดยขณะนี้บริษัทเวียดนามยังคงทำการส่งออกข้าวตามปกติ ขณะที่ราคาข้าวเวียดนามพุ่งขึ้นนับตั้งแต่ที่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติ

ด้านนายฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม มีคำสั่งให้กระทรวงต่าง ๆ และรัฐบาลระดับท้องถิ่นรักษาสมดุลของปริมาณข้าวสำหรับบริโภคในประเทศและสำหรับการส่งออก เพื่อรับประกันความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนยกเลิกกฎข้อบังคับที่เป็นอุปสรรค เพื่อขยายการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามเปิดเผยว่า ในบางพื้นที่ของประเทศนั้น กลุ่มผู้ค้าข้าวได้กว้านซื้อข้าวและข้าวเปลือกไว้จำนวนมาก ก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นเกินความเหมาะสม จึงมีคำสั่งให้ลงโทษผู้กระทำการแสวงหาผลประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดการหยุดชะงักในตลาดท้องถิ่น และกระทบต่อชื่อเสียงของข้าวเวียดนามในระดับโลก

รัฐบาลเวียดนามคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกในปีนี้อาจมากกว่า 43 ล้านตัน และคาดว่าการส่งออกข้าวจะสูงแตะระดับ 7.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อนหน้า

น้ำตาลอาจเป็นคิวต่อไป

การห้ามส่งออกข้าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลอินเดียกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและภาวะเงินเฟ้อในประเทศ และตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มวิตกว่าอินเดียอาจดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับน้ำตาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั่วโลกอีกระลอก เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดียเปิดเผยว่า รัฐมหาราษฏระและรัฐกรณาฏกะ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยหลักของอินเดีย มีปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ และทางสมาคมคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลจะลดลง 3.4% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 31.7 ล้านตันในฤดูกาล 2566-2567 ซึ่งยังเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ แต่อินเดียมีแนวโน้มใช้น้ำตาลในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลให้น้ำตาลไม่เพียงพอต่อการส่งออก

อินเดียเคยจำกัดการส่งออกน้ำตาลมาแล้วในฤดูกาล 2565-2566 โดยอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาล 6.1 ล้านตัน ลดลงจาก 11 ล้านตันในฤดูกาลก่อนหน้า ส่วนในฤดูกาลต่อจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าอินเดียอาจให้ส่งออกน้ำตาลเพียง 2-3 ตัน หรือสั่งห้ามส่งออกเลย ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าอินเดียจะยังไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวในเร็ว ๆ นี้ และเชื่อว่าคำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียในเดือนเม.ย.ปีหน้าเป็นอย่างน้อย ซึ่งถือเป็นโอกาสทองของประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่น ๆ แต่บรรดาประเทศผู้นำเข้าคงต้องหาทางรับมือกับวิกฤตอาหารกันต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top