PoliticalView: รัฐบาลข้ามขั้ว ไม่มี “ลุง” ได้หรือ? ตัวแปรเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทย ขยับตัวเริ่มเกมตั้งรัฐบาลด้วยการประกาศจับมือพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคแรก ด้วยเสียงตั้งต้น 212 เสียง พร้อมระบุว่าภายในสัปดาห์นี้จะเห็นความชัดเจนการเดินหน้าหาเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นๆ เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีที่พรรคยืนยันจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แม้พยายามย้ำว่าจะไม่มี “2 ลุง” ร่วมรัฐบาล แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าไม่น่าเป็นไปได้ ถ้ายังต้องการเสียงสนับสนุนเต็มพิกัด 376 เสียง

*”เพื่อไทย” ยังหนัก จนกว่าจะผ่านด่านหิน แม้ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แต่มองเงื่อนไข “ไม่มีลุง” เป็นไปได้ยาก

ประเด็นนี้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตลูกพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่า 212 เสียง เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากตรงไหน สารตั้งต้น ควรต้องเกิน 250 เสียง พรรคเพื่อไทย เมื่อไม่มี ก้าวไกล, ไทยสร้างไทย, เป็นธรรม แล้วก็ไม่มีพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วม ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางเกิน 250 เสียง ถึงจะรวมพรรคอื่นได้เกิน 250 เสียง แต่หากไม่มี พปชร. ก็ไม่มีทางผ่าน 375 เสียง (กึ่งหนึ่งของรัฐสภา)

ด้านนายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่จำเป็นต้องมีพรรค 2 ลุง (พปชร.-รทสช.) มาร่วม ซึ่งอาจจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือเปิดโอกาสให้พรรคร่วมอื่นขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีอาจเป็นของพรรคร่วมก็ได้

“พรรคเพื่อไทยจะได้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ ตอนนี้สถานการณ์ขึ้นอยู่กับพรรคร่วม หากพรรคของลุงไฟเขียวเรื่องแคนดิเดทนายกฯ ก็อาจจะได้เป็น แต่ถ้าพรรคของลุงไม่ให้ไฟเขียว ก็คงไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรี” นายสติธร กล่าว

นอกจากนี้ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยดูจะลำบากทั้งคู่ ทั้งนายเศรษฐา ที่ถูกโจมตีเรืองการเลี่ยงภาษีที่ดินในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธาน บมจ.แสนสิริ และเรื่องความชัดเจนเรื่องจุดยืนทางการเมืองที่เคยกล่าวไว้ในอดีต หรือเรื่องมาตรา 112 ส่วน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็เจ็บตัวจากเรื่องการประกาศกำหนดกลับบ้านของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

พร้อมมองว่า มีโอกาสจะได้นายกรัฐมนตรีคนนอก โดยหลังจากโหวตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลไปแล้ว การโหวตแคนดิเดทจากพรรคเพื่อไทยก็ดูไม่สดใส ทำให้โอกาสมาถึงแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคร่วมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่อาจตัดสินใจไม่โดดลงสนามเอง เพราะจะทำให้สถานการณ์ลำบากมากขึ้น แต่คาดว่าจะผ่าทางตันด้วยการหานายกรัฐมนตรีคนนอกมาแทน แต่เรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกนี้ อาจเป็นสูตรท้ายๆ ที่จะไปถึง

ส่วนการประกาศกลับบ้านของนายทักษิณ นั้น นายสติธร ระบุว่า เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ นายทักษิณ คงต้องรอการกลับไทยอีกสักพัก เพราะต้องดูแนวโน้มสถานการณ์การเมืองในประเทศว่าสงบหรือไม่ โดยเชื่อว่าหากมีการร่วมรัฐบาลกับพรรค 2 ลุง ประชาชนอาจไม่พอใจและออกมาชุมนุม ซึ่งต้องดูด้วยว่าจะยืดเยื้อนานแค่ไหน นายทักษิณ คงต้องรอให้การจัดตั้งรัฐบาลนิ่ง และเริ่มเข้ามาบริหารประเทศไประยะหนึ่งก่อน เพราะหากรีบกลับ อาจจะทำให้สถานการณ์ในประเทศยุ่งเหยิงได้

อย่างไรก็ตาม ต้องดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ก่อนว่าจะออกมาอย่างไร หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลภายในเดือนสิงหาคมได้ก็จะดีมาก

*เพื่อไทย ถูกโดดเดี่ยว ไร้อำนาจต่อรอง

นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังถูกรุมกินโต๊ะ อำนาจในการต่อรองเป็นไปอย่างยากลำบาก สถานการณ์ที่หวังจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่เป็นขั้วรัฐบาลเดิม และ สว.หลังฉีกเอ็มโอยูแล้ว กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีความระแวงว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่ล้มเลิกที่จะแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จริง เพราะมีการขุดหลักฐานในอดีตที่แกนนำเคยประกาศจะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังไม่กล้าประกาศจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้แนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก เพราะขาดเสียงสนับสนุนจาก สว. หนทางเดินของพรรคเพื่อไทยมีไม่มาก แต่ยังโชคดีที่มีเวลาให้เจรจาต่อรอง เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนแคนดิเดทของพรรคเพื่อไทยทั้ง 3 คนก็อาจไม่พร้อม ทั้งนายเศรษฐา ที่ถูกแฉพฤติกรรมในอดีต น.ส.แพทองธาร ที่ครอบครัวอาจไม่อยากให้มารับตำแหน่ง ส่วนนายชัยเกษม นิติศิริ ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ

“อำนาจต่อรองของเพื่อไทยหลังฉีกเอ็มโอยู ไม่ได้มีสูงเหมือนวันที่ก้าวไกลส่งไม้ต่อให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตอนนี้เพื่อไทยถูกโดดเดี่ยว สถานการณ์ค่อนข้างตีบตัน เพื่อไทยอาจถูกบีบจนเสียอำนาจให้พรรคอื่นเป็นนายกฯ แทน…รอไปเรื่อยๆ มีเวลาต่อรอง ยังไม่จบง่ายๆ” นายโอฬาร กล่าว

*ถ้าไม่มี “ลุง” ก็ไม่มี สว.

นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่งพอที่จะประเมินได้ว่าสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร การพิจารณายังมีองค์ประกอบหลายปัจจัย เช่น เงื่อนไขที่ไม่มีเสียงสนับสนุนจากพรรคก้าวไกล 151 เสียงแล้ว และจะไปหวังพรรคก้าวไกลโหวตให้คงไม่ได้

นอกจากนี้ การประกาศไม่เอาเสียงจากพรรค 2 ป. จะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยมีอำนาจต่อรองลดลงไปอีก โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนจาก สว. แต่หากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจดึงพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาล ถึงแม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.เพิ่มขึ้น แต่จะพรรคเพื่อไทยถูกกลุ่มผู้สนับสนุนโจมตีอย่างรุนแรง

“ถ้าเพื่อไทยดึง 2 ป.เข้าร่วม จะไม่กังวลเรื่องเสียงสนับสนุน แต่จะกลายเป็นตำบลกระสุนตก” นายวันวิชิต กล่าว

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยยังจะต้องรับมือกับการแก้ข้อกล่าวหาของนายชูวิทย์ ที่ออกมาแฉกรณีที่นายเศรษฐา แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ที่พรรคเตรียมเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ ว่ามีพฤติกรรมอำพรางสนับสนุนการเลี่ยงภาษีกว่า 521 ล้านบาทในการจัดซื้อที่ดินของ บมจ.แสนสิริ เมื่อปี 62 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่พรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา จะต้องชี้แจงข้อกล่าวหาให้เคลียร์ก่อน

สัปดาห์นี้ น่าจะเห็นภาพพรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นเพิ่มขึ้น และภาพของ “งูเห่า” ที่น่าจะเห็นความชัดเจน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top