นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ว่า วุฒิสภาต้องรอให้แต่ละพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาลรวมตัวกันให้เสร็จก่อน เพราะต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพต้องได้เสียงเกินกว่า 250 คนขึ้นไป
ขณะนี้ได้ 200 กว่าแล้ว ต้องดูว่าจะมีพรรคใดบ้างมารวมตัวกัน เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ และพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ต้องตกลงกันว่าจะนำชื่อใครที่อยู่ในบัญชีแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี แม้พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกฯ แต่ระยะเวลายังมีอยู่ ต้องรอดูต่อไปว่าสุดท้ายการเสนอชื่อในสภาฯ จะเป็นชื่อใด
นายเสรี กล่าวว่า พรรคการเมืองต้องไปตกลงกันให้ได้ว่าพรรคใดจะมาร่วม แต่การที่จะมี 2 ลุงอยู่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคต้องตกลงกันเอง ในส่วนของ สว. คงต้องรอว่าจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด หากตอบตอนนี้จะกลายเป็นว่าเราไปสนับสนุนพรรคนั้น พรรคนี้อาจจะไม่เหมาะสม
หากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าร่วมรัฐบาลจะมีผลต่อการรวมคะแนนเสียงของ สว. หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า คิดว่าทุกพรรคที่เสนอชื่อมา สว. ต้องพิจารณาทั้งหมด คงไม่เลือกพรรคในการพิจารณา แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในแต่ละพรรคที่ต้องตกลงกันเอง
นายเสรี กล่าวว่า ต้องดูให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความเข้มแข็ง แต่ละพรรคที่มาร่วมต้องไม่สร้างปัญหาในทางการเมือง หรือไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติด้วย
นายเสรี กล่าวถึงแคนดิเดทของพรรคเพื่อไทย ตอนนี้เป็นนายเศรษฐา สว. จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ว่า อยู่ในเกณฑ์พิจารณามากกว่า เพราะการเสนอชื่อมาแล้วต้องอยู่ในมาตรฐานที่เคยตัดสินใจไปแล้ว ดังนี้
1. ต้องไม่แตะมาตรา 112 หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวดมาตราพระมหากษัตริย์ ถือเป็นหลักสำคัญในการพิจารณาครั้งก่อน
2. ดูคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่ได้รับการเสนอชื่อมีการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
3. ดูนโยบายของแต่ละพรรคเพื่อนำมาประกอบในการตัดสินใจ ถือว่ามีส่วนสำคัญ เพราะมีผลกระทบกับประชาชน
นายเสรี กล่าวต่อว่า ตอนนี้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พชปร.) มายื่นตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐา ในกรณีเลี่ยงภาษีที่ดินหรือไม่ ซึ่งตนในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนจะพิจารณารายละเอียดในการประชุมวันนี้ ซึ่งจะดูในเรื่องที่ร้องเรียนมา เพราะยังไม่ทราบว่ายื่นเรื่องใดบ้าง เกี่ยวข้องกับกรรมาธิการหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องก็พิจารณา ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็ส่งต่อให้กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อ
สำหรับการตรวจสอบควรดำเนินการให้เสร็จก่อนการโหวตนายกฯ ครั้งต่อไป เพราะเป็นเหตุผลสำคัญของคนที่จะมาบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องวางแนวทางว่าต้องไม่อคติและต้องดูตามเหตุผลไป และเห็นว่านายเศรษฐา มาแสดงวิสัยทัศน์ด้วยตัวเอง
ส่วนกรณีที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. ออกมาระบุ นายกฯ คนต่อไปไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย ทำให้หลายคนมองว่าเป็นธงของ สว. ในการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า คงเป็นดุลยพินิจของบุคคล คงฟันธงตอนนี้ไม่ได้ เพราะในที่สุดยังไม่รู้เลยว่าพอถึงเวลาจริงการเสนอชื่อในสภาต้องใช้เสียง 1 ใน 10 ซึ่งจะเป็นใครนั้นต้องรอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 66)
Tags: การเมือง, พรรคภูมิใจไทย, พรรคเพื่อไทย, เสรี สุวรรณภานนท์