ทองคำนิวยอร์กปิดบวก $7.30 หลังดอลล์อ่อนค่าหนุนแรงซื้อ

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (4 ส.ค.) หลังจากติดลบ 3 วันติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 7.30 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 1,976.10 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ลดลง 1.2% ในรอบสัปดาห์นี้

  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 23.72 ดอลลาร์/ออนซ์

  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 6.70 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 928.50 ดอลลาร์/ออนซ์

  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 7.20 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,264.60 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นจากแรงซื้อ หลังดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.52% แตะที่ 102.0145 ในวันศุกร์

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ลดลงช่วยหนุนแรงซื้อสัญญาทองคำด้วย

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ส่วนการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดอลลาร์อ่อนค่าลงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (4 ส.ค.) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.2% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top