สนข. เตรียมชงรัฐบาลใหม่ประมูลแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง คาดคัดเลือกเอกชนลงทุน Q3/68

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง) ว่า ขณะนี้การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) นั้น ได้

คัดเลือกจุดก่อสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่งได้แล้ว คือ บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาเชื่อมโยง ระยะทางประมาณ 89.35 กิโลเมตร โดยจะมีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ขนาดราง มาตรฐาน (1.435 เมตร) และระบบขนส่งทางท่อ (Pipeline) มีรูปแบบ ทั้ง ทางยกระดับ ทางระดับพื้นและอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง ในช่วงที่ผ่านพื้นที่ภูเขาเพื่อให้ความลาดชันของโครงการอยู่ที่ 1% ซึ่งจะมีผลต่อการทำความเร็วของรถบรรทุก

ทั้งนี้ จากระยะเวลาจ้างศึกษา 30 เดือน (มี.ค.64- ก.ย.66) นั้น แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้จึงมีการขยายระยะเวลาการศึกษาออกไปสิ้นสุดเดือนก.ย.67 หรือ ล่าช้าจากแผน ประมาณ 12 เดือน โดยปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการทำรายงาน EHIA โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 วันที่ 16-17 ส.ค.66 ครั้งที่ 2 เดือนธ.ค. 66 ครั้งที่ 3 เดือนมี.ค.67 จากนั้นจะนำรายงานEHIA เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อไป

นายปัญญากล่าวว่า เดิม สนข. ได้สรุปการศึกษาในเบื้องต้นเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการฯ แต่เนื่องจากมีการยุบสภาไปก่อนดังนั้น หากมีครม.ชุดใหม่ สนข.ได้เตรียมข้อมูล นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการโครงการฯ จากนั้น จะทำการโรดโชว์กับนักลงทุนในช่วงเดือน ต.ค -พ.ย.66

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง เพราะมีทั้งท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ โดยจะรวมการลงทุนเป็นแพกเกจเดียวกัน ให้เอกชนลงทุน 100% โดยเป็นเอกชนต่างชาติ ร่วมกับเอกชนไทย ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โดยนักลงทุนเป้าหมายคือกลุ่มสายเดินเรือขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าในมือผู้บริหารท่าเรือที่มีความเชี่ยวชาญและนักลงทุนอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องรับฟังข้อมูลจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ ว่าต้องการให้รัฐสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกเรื่องใดบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาประมวลไว้ในผลการศึกษาเพื่อวิเคราะห์โมเดลการพัฒนาการลงทุนที่เหมาะสม

โดยคาดว่าจะสรุปผลการศึกษารูปแบบโมเดลธุรกิจต่างๆและนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ นอกจากนี้จะเสนอร่างพ.ร.บ.เอสอีซี เพื่อ เป็นกฎหมายเฉพาะในการรองรับการพัฒนา และจัดตั้งสำนักงาน เอสอีซี เพื่อขับเคลื่อนเหมือน การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี )

ทั้งนี้ โครงการฯ มีผลดีต่อประเทศ และเศรษฐกิจ เชื่อว่า จะได้รับการพิจารณาและผลักดันจากรัฐบาล โดยคาดว่า จะคัดเลือก ผู้ลงทุนและลงนามสัญญาประมาณไตรมาสที่ 3/68 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปีเปิดให้บริการระยะแรกในปี 73

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น จะมีการพัฒนาแลนด์บริดจ์ 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ประมาณมูลค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท รองรับ 20 ล้านทีอียู แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ(เฟส) ย่อย

โดย เฟส 1/1 มูลค่าลงทุนรวม 522,844 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.ท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 260,235 ล้านบาท แบ่งเป็น ฝั่งชุมพร รองรับ 4 ล้านทีอียู มูลค่าลงทุน 118,519 ล้านบาทก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนองรองรับ 6 ทีอียู มูลค่าลงทุน 141,716 ล้านบาท

2. พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า(SRTO) มูลค่ารวม 60,892 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพรมูลค่าลงทุน 38,113 ล้านบาทพื้นที่ฝั่งระนองมูลค่าลงทุน 22,779 ล้านบาท

3. เส้นทางเชื่อมโยงมอเตอร์เวย์ขนาด 4 เลน และรถไฟทางคู่ มูลค่ารวม 201,716 ล้านบาท

ส่วนเฟส 1/2 มูลค่าการลงทุนรวม 164,671 ล้านบาท โดยจะขยายท่าเรือ ชุมพรรองรับ 8 ล้าน ทีอียู ท่าเรือระนองรองรับเป็น 12 ล้านทีอียู และขยายมอเตอร์เวย์เป็น 6 เลน

เฟส 1/3 มูลค่าลงทุนรวม 228,512 ล้านบาทโดยจะขยายท่าเรือ ชุมพรรองรับ 14 ล้าน ทีอียู ท่าเรือระนองรองรับเป็น 20 ล้านทีอียูขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา

และเฟส 1/4 มูลค่าลงทุนรวม 85,177 ล้านบาทขยายท่าเรือ ชุมพรรองรับ 20 ล้าน ทีอียู

การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นั้น เพื่อพัฒนาเป็นประตูการค้าของประเทศไทย การออกแบบไม่ใช่การแข่งขันกับท่าเรือสิงคโปร์ แต่จะเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมกัน ซึ่งปัจจุบันช่องแคบมะละกา มีข้อจำกัด แออัด เพราะปริมาณเรือมากขึ้น โดยจะเป็นทางเลือกในการขนส่ง เนื่องจากสามารถลดระยะเวลาการขนส่งลง 4 วัน เทียบจากช่องแคบมะละกา จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นรับเรือฟีดเดอร์ ขนาด 8,000-9,000 ทีอียู สินค้าประเภทถ่ายลำ เพื่อเป็นเกตุเวย์ เชื่อมกันขนส่งสินค้ายุโรป-แลนด์บริดจ์- จีน เป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top