HILITE: KCG ปิดเทรดวันแรก 8.30 บาท ต่ำจอง 2.35% ลีดอันเดอร์ไรท์ให้เป้า 12 บาท

KCG ปิดเทรดวันแรกที่ 8.30 บาท ลดลง 0.20 บาท (-2.35%)จากราคา IPO ที่ 8.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,481.49 ล้านบาท จากราคาเปิด 8.55 บาท ราคาสูงสุด 8.90 บาท ราคาต่ำสุด 7.90 บาท

บล.บัวหลวง (เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย) ระบุว่า บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น (KCG) ผู้ผลิตเนยและชีสแบรนด์อันดับ #1 ของไทย เข้าซื้อขายวันแรก (1st Day trade) เริ่มต้นให้คำแนะนำซื้อ KCG ด้วยราคาเป้าหมาย 12 บาท โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้

1) KCG เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกว่า 60 ปี ด้วยส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ที่ทิ้งห่างเบอร์ 2 และสร้าง economies of scale พร้อมการได้เปรียบในการแข่งขันได้ดีกว่า ด้วยโครงสร้างธุรกิจ การกระจายสินค้า และตัวสินค้าที่เป็นผู้นำตลาด หลังพ้นวิกฤติ กำไรกลับมายืนเหนือ pre-COVID ได้อย่างรวดเร็ว

2) อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง จากร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านขนมต่างๆ และพร้อมโตไปกับ food megatrend คิดค้นสูตรกับลูกค้า ด้วยศูนย์นวัตกรรมและ R&D

3) กำไรเติบโตเฉลี่ย 20% สำหรับปี 2023-25 จาก organic growth, สินค้าใหม่, ขยายกำลังการผลิต, และการขยายตัวของ GPM จากราคาวัตถุดิบลดลงและประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น

4) Valuation ไม่แพง คิดจาก PEG โดยใช้ PER ปี 2024 เทียบการเติบโตของกำไร 20% CAGR ปี 2024-25 ได้ PEG ที่ 0.89 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PEG ของกลุ่มอาหารและวัตถุดิบด้านอาหาร ที่ 0.97 เท่า

ส่วนแผนการใช้เงิน IPO หลักๆ ได้แก่ 1) KCG logistic park , 2) ขยายกำลังการผลิตเนยและชีส 28%, 3) เครื่องจักรระบบออโต้และไฮสปีด และ 4) ชำระคืนหนี้เล็กน้อย

เราคาดกำไรไตรมาส 2/66 จะเติบโต 3% YoY แต่ลดลง 12% QoQ จาก SG&A ที่เพิ่มจากการออก event, สินค้าตัวใหม่ และคชจ.IPO ซึ่งกำไรไตรมาส 2/66 นี้อยู่ในประมาณการของเราแล้ว (Note 4Q กำไร 1Q23 เติบโต 105% YoY) โดยทั้งนี้ แนวโน้ม Momentum กำไรรายไตรมาส ปกติจะทรงๆ ในไตรมาส 1-3 และไป Peak ในไตรมาส 4 ที่เป็น High season

ด้านนายวาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ KCG กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนขยายการลงทุนในปี 66-67 โดยมุ่งลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตชีส (Individually Wrapped Processed Cheese Slices) จากเดิม 2,106 ตันต่อปี ให้เพิ่มเป็น 4,212 ตันต่อปี ภายในปีนี้ และจะขยายกำลังการผลิตเนยที่โรงงานเทพารักษ์ จากในปัจจุบัน 18,596 ตันต่อปี ให้เพิ่มเป็น 23,261 ตันต่อปี ภายในปี 2567 รวมถึงลงทุนเครื่องจักรใหม่และปรับพื้นที่สร้างห้องปลอดเชื้อที่โรงงานบางพลี

นอกจากนี้ บริษัทจะลงทุนก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า (KCG Logistics Park) โดยเป็นศูนย์กระจายสินค้าแบบแช่แข็ง (Frozen) และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) ซึ่งเป็นคลังสินค้าที่มีความทันสมัยและครบวงจร อีกทั้งยังเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าได้อย่างทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งตามชนิดผลิตภัณฑ์ (Product Layout) เทียบเท่ามาตรฐาน GMP C และ GMP D ซึ่งเป็นมาตรฐานยุโรป รวมทั้งวางแผนการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Automation) มาพัฒนาโรงงานสู่การผลิตระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 67

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top