กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 และมีแนวทางการดำเนินการร่วมกับนานาประเทศในการรักษาระดับความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้พัฒนาการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมภายในประเทศ เพื่อรองรับพันธกรณีที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเข้าสู่กรอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดของความตกลงปารีสที่มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพูมิอากาศเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตั้งแต่ปีพ.ศ.2673 (ค.ศ. 2030) เป็นต้นไป
ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมการด้านโครงสร้างเชิงสถาบันและกฎหมายภายในประเทศให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานร่วมกับนานาชาติดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน และแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง สิ่งแวดล้อม ประเด็นปฏิรูปที่ 3 ผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้กำหนดให้มีการออกประกาศ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมโดยเสริมสร้างระบบและกลไกภายในประเทศให้สามารถดำเนินภารกิจดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
คำถามเพื่อการ “ออกแบบ” กฎหมายจึงเกิดขึ้นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ตลอดจนกฎหมายฉบับอื่น) นั้นควรจะมีวัตถุประสงค์ ภารกิจ และศักยภาพอย่างไร เช่น จะเป็นกฎหมายที่เป็นฐานในการออกคำสั่งและคำบังคับเพื่อไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลงโทษบุคคลที่ฝ่าฝืนหน้าที่กฎหมายดังกล่าว หรือกฎหมายสามารถทำหน้าที่อื่นได้
กฎหมายไม่ได้มีเพียงภารกิจในการเป็นฐานรับรองอำนาจรัฐในการออกคำสั่งและคำบังคับเท่านั้น หากแต่ยังสามารถถูกพัฒนาตรงเป็นฐานในการสร้างแรงจูงใจและรับรองสิทธิประโยชน์ของการลงทุนหรือประกอบการซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การที่องค์กรธุรกิจจะ “ลงทุน” เพื่อทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น อาจไม่ได้อาศัยเพียงการถูกบัญญัติให้มีหน้าที่ตามกฎหมาย หากแต่ควรจะรวมไปถึงการรับมาตรการสนับสนุนจากรัฐเพื่อทำให้เกิดการลงทุน หรือเพื่อทำให้การดำเนินการนั้นองค์กรเอกชนได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
มาตรา 46 วรรคหนึ่ง (3) แห่งร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (ฉบับรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั่วประเทศ) บัญญัติให้ เจ้าของกิจการหรือกิจการอื่นใดสามารถยื่นคำขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมด้านการลดก๊าซเรือนกระจก คำถามที่ตามมาคือการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นมีลักษณะอย่างไร และการดำเนินใดมีลักษณะเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกตามความหมายของกฎหมาย
นิยามของ “การลดก๊าซเรือนกระจก”ตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (ฉบับรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั่วประเทศ) คือ การดำเนินการของมนุษย์อันมีผลเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินการอื่นใดอันมีผลเป็นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นจะถูกติดตามหรือตรวจสอบอย่างไร การกำหนดข้อห้ามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยปราศจากการวัดปริมาณที่ถูกต้องแม่นยำว่า แต่เดิมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าใด และการดำเนินการเพื่อให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นส่งผลให้มีการ “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริงในปริมาณเท่าใด กฎหมายจะมีบทบาทใดเพื่อทำให้เกิดการตรวจวัดทั้งการปล่อยและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นอย่างถูกต้อง แม่นยำ และตรวจวัดได้ตามมาตรฐานสากล
โดยทางปฏิบัติ องค์กรธุรกิจสามารถดำเนินกระบวนการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กร (Carbon Footprint Organization หรือ”CFO”) กำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานหรืออนุรักษ์พลังงาน หรือติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนติดตั้งและใช้ซอฟแวร์เพื่อการประหยัดพลังงาน หรือควบคุมการใช้พลังงานได้ เมื่อมีการลงทุนและใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว โดยองค์กรธุรกิจย่อมสามารถนำเอารายงานการศึกษาดังกล่าวไปยื่นขอรับเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้
ทั้งนี้ กองทุนสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 นั้นเป็นกองทุนในกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางมีหน้าที่เก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุนสิ่งแวดล้อม และดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม
นอกจากจะสามารถขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมแล้ว การลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานหรืออนุรักษ์พลังงาน หรือติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนติดตั้งและใช้ซอฟแวร์เพื่อการประหยัดพลังงาน หรือควบคุมการใช้พลังงานยังอาจเข้าลักษณะการเป็นกิจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 15/2565 เรื่อง มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ให้สิทธิประโยชน์กับกิจการที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งลงทุนเป็นเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท (โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
บุคคลที่ประสงค์จะขอรับสิทธิประโยชน์จะต้องเสนอแผนการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน การนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนี้
1) ต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้เกิด การใช้พลังงานลดลงตามเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
2) ต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการในสัดส่วนตามเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทั้งสิ้น
3) ต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณของเสีย น้ำเสีย หรืออากาศ ตามเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
4) ต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด โดยจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับได้แก่ การได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม โดยระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริมและจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันออกบัตรส่งเสริม
จะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายไทยได้ถูกพัฒนาให้มีศักยภาพในการตอบสนองต่อความท้าทายในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยไม่ได้มีเพียงภารกิจในการออกคำสั่งและคำบังคับ หรือการลงโทษเมื่อมีการกระทำความผิด หากแต่ทำหน้าที่เป็นฐานทางกฎหมายเพื่อกำหหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการรับเงินสนับสนุนหรือมาตรการส่งเสริมเช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนหรือการดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีการใช้ประโยชน์จากกฎหมายที่ถูกบังคับใช้อยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และการพัฒนาให้มีกฎหมายใหม่ เช่น ประเด็นสำคัญคือ “ข้อมูล” หรือ “ผลการวิเคราะห์” ที่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์นำมาแสดงว่าการดำเนินการนั้นสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 66)
Tags: Power of The Act, กฎหมาย, ก๊าซเรือนกระจก, การลงทุน, พระราชบัญญัติ, ส่งออก, สภาพภูมิอากาศ, สิ่งแวดล้อม