Web3 ถูกยอมรับว่าเป็นยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ตซึ่งมีความสามารถเหนือกว่า Web 1 และ Web2 ที่เป็นแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานและมีความจำกัดในการทำงาน ผู้ใช้และผู้พัฒนาไม่สามารถควบคุมหรือเขียน Code ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานได้ จะต้องรอให้ผู้ให้บริการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
การมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Blockchain หรือระบบการกระจายศูนย์ทำให้การทำงานผ่านโปรแกรมหรือ Code นั้นสามารถทำงานและสร้างสรรค์โดยไร้คนกลางส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบ Web3 ขึ้นในปัจจุบันเปิดโอกาสให้นักพัฒนาสามารถใช้ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร้ข้อจำกัด
ในปัจจุบันนี้ Code จึงไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ประมวลผล หรือรับส่งข้อมูลกัน แต่นักพัฒนายังมองว่า Code ทำหน้าที่ไม่ต่างจาก “กฎหมาย” ที่กำหนดแนวทางในการปฏิบัติในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่กำหนดเงื่อนไขกฎเกณฑ์และไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่ออกมาได้
ยกตัวอย่างเช่น การสร้างระบบเก็บข้อมูลกลางบน Web3 ที่ถูกกำหนดให้เมื่อเหตุการณ์หรือเงื่อนไขบางอย่างเกิดขึ้น Code ก็จะทำงานอย่างอัตโนมัติไม่ต่างจากการเกิด “สัญญา” ขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง เพียงแต่เป็นสัญญาที่มีการบังคับใช้โดยอัตโนมัติด้วย Code ที่มีให้เห็นแล้ว เช่น Smart Contract หรือที่อาจถูกใช้ในอนาคต เช่น การที่หน่วยงานของรัฐอาจใช้ Web3 เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินกิจการของรัฐต่าง ๆ ในการให้คุณให้โทษแก่ประชาชน จึงถูกมองว่า Code ไม่ได้แค่เพียงทำหน้าที่ของ “กฎหมาย” (ปฏิบัติตามกฎหมาย) แต่เป็นตัว “กฎหมาย” เองเลยทีเดียว
สิ่งนี้เป็นประเด็นท้าทายในมุมนักกฎหมายว่าการดำเนินการต่าง ๆ จะสามารถเชื่อใจหรือไว้ใจ Code ได้มากน้อยเพียงใด จะต้องกำกับดูแล Code หรือนักพัฒนาหรือไม่เพียงใด และการตัดสินใจหรือเงื่อนไขการตัดสินใจของ Code นั้น ๆ จะต้องโปร่งใสหรือสามารถตรวจสอบได้
นอกจากนั้นแล้วทางทฤษฎีกฎหมายในปัจจุบันการก่อให้เกิดสัญญาด้วย Code หรือการมี Code มากำกับการตีความตามสัญญาหรือกฎหมายว่า การดำเนินการของ Code นั้น ๆ เป็นสัญญาตามกฎหมายหรือไม่ คู่สัญญามีเจตนาอย่างไร รวมถึงการบังคับของสัญญาหรือการตีความสัญญาในกรณีที่ต้องมีการตีความสัญญาหรือการดำเนินการของ Code บนพื้นฐานของเจตนาของคู่สัญญานั้น ๆ
เนื่องจาก Code เป็นภาษาที่ถูกออกแบบมาพิเศษเพื่อสั่งการหรือควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ จึงต้องแน่นอนว่าปราศจากความกำกวม หรือต้องอาศัยการตีความ ส่วน Code หรือภาษาที่ใช้นั้นบุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ ซึ่งต่างจาก “กฎหมาย” ที่บุคคลรวมถึงสัญญาที่แม้จะถูกบัญญัติให้ความกำกวมหรือไม่ชัดเจนทำให้ต้องอาศัยการตีความในบางกรณี แต่บุคคลทั่วไปก็ยังสามารถทำความเข้าใจได้เอง
ประเด็นดังกล่าวยังเป็นประโยชน์เนื่องจากสามารถค้นหาเจตนาที่แท้จริงของผู้ร่างหรือคู่สัญญาได้ ซึ่งอาจต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของการเข้าดำเนินการนั้น ๆ อีกทั้งกฎหมายยังไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ง่ายแม้สภาพสังคมและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป การบังคับใช้กฎหมายหรือสัญญาจะต้องถูกตีความผ่านดุลพินิจของศาลหรือผู้บังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด ซึ่ง Code เมื่อไม่ถูกควบคุมจะสามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยี Web3 ที่ได้เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราแล้ว ธุรกรรมต่าง ๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นตัวกลางนั้น จะส่งผลให้แนวทางปฏิบัติหรือกฎหมายที่เป็นสิ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติของสังคมมาอย่างยาวนานนั้นจะมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 66)
Tags: SCOOP, Web3, กฎหมาย, บล็อกเชน