มีผลแล้ว! ระเบียบส่งเสริมรัฐ-เอกชนร่วมลงทุน นำงานวิจัยนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ให้ความสำคัญมุ่งส่งเสริมการให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อช่วยเกษตรกรและชุมชน หรือเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ระเบียบร่วมลงทุน ได้กำหนดวัตถุประสงค์การร่วมทุนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1) เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือเชิงสาธารณประโยชน์ 2) เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และ 3) เพื่อสร้างธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่ ซึ่งลักษณะโครงการร่วมลงทุน ครอบคลุม โครงการที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมไปใช้ดำเนินการ หรือเป็นโครงการที่มีอยู่แล้วและนำไปศึกษาต่อยอด หรือนำไปขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
  • รูปแบบการร่วมลงทุน ระบุว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุน สามารถร่วมลงทุนกับเอกชน 1) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน 2) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (Holding Company) หรือ 3) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนใน ‘วิสาหกิจเริ่มต้น’ หรือสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้
  • การอนุมัติโครงการร่วมลงทุน ต้องพิจารณาความสอดคล้องของนโยบายร่วมลงทุน ข้อเสนอ เงื่อนไข ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แผนธุรกิจ และแผนการจัดการความเสี่ยง รวมถึงความพร้อมของผู้ร่วมทุนและประสบการณ์ โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมทั้งการติดตามและประเมินผลโครงการ ซึ่งต้องกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นความคุ้มค่าของการลงทุน และประสิทธิภาพในการบริหารการลงทุน และประเมินผลตามหลักเกณฑ์ที่หน่วนงานเจ้าของโครงการกำหนด
  • วิธีการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน 1) คัดเลือกจากเอกชนอย่างน้อย 3 ราย ที่เข้ายื่นข้อเสนอร่วมลงทุน โดยยึดหลักเกณฑ์การคัดเลือกด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยอกชนที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติ ประสบการณ์ ความพร้อม และความสามารถในการเข้าร่วมลงทุนเหมาะสมตามเกณฑ์ 2) ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการเชิญชวนเฉพาะเอกชน ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ระเบียบดังกล่าว ยังกำหนดว่าเพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งและดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจในอนาคต หน่วยงานเจ้าของโครงการอาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงานเจ้าของโครงการไปวิจัยหรือสร้างนวัตกรรมในบริษัทร่วมทุน
  2. ส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงานเจ้าของโครงการไปบริหารหรือปฏิบัติงานในบริษัทร่วมทุน ได้ตามความเหมาะสม
  3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนในหน่วยงานเจ้าของโครงการซึ่งเป็นสถานศึกษาไปศึกษา วิจัย สร้างนวัตกรรม หรือปฏิบัติงานอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในหลักสูตรโดยตรง
  4. ให้ใช้สถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ หรือสิ่งอื่น ในทำนองเดียวกันของหน่วยงานเจ้าของโครงการ โดยไม่มีค่าบริการหรือมีค่าบริการอัตราพิเศษก็ได้
  5. ให้ใช้บริการของหน่วยงานเจ้าของโครงการโดยไม่มีค่าบริการหรือมีค่าบริการอัตราพิเศษก็ได้
  6. จัดซื้อหรือจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากบริษัทร่วมทุนในกรณีที่สินค้าหรือบริการนั้น มีคุณภาพ มาตรฐานที่แข่งขันได้ในท้องตลาด และมีราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
  7. การส่งเสริมอื่นที่สภานโยบายประกาศกำหนด

“ระเบียบดังกล่าว จะทำให้งานวิจัยต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมาก จะช่วยเพิ่มรายได้และโอกาสจากการนำผลงานวิจัยไปเป็นฐานในการผลิตและบริการ เพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย กลุ่มสตาร์ทอัพ หรือกลุ่มสมาร์ทเอสเอ็มอี ขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม ช่วยขับเคลื่อนการสร้าง IDE และขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มมากขึ้น ตามเป้าหมาย 2% ต่อจีดีพี” น.ส.ทิพานัน กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top