อาเซียนเร่งสร้างเอกภาพทางเศรษฐกิจด้วยการใช้ระบบชำระเงินระดับภูมิภาค

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การใช้ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนระดับภูมิภาคเมื่อไม่นานมานี้ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความเป็นเอกภาพทางการเงินในกลุ่มผู้เข้าร่วม ทำให้อาเซียนเข้าใกล้เป้าหมายการสร้างความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนสามารถใช้ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนของอาเซียนได้แล้วในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ ส่วนฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมเร็ว ๆ นี้ โดยระบบดังกล่าวอนุญาตให้ประชาชนในภูมิภาคชำระเงินค่าสินค้าและบริการด้วยสกุลเงินท้องถิ่นผ่านการใช้ QR Code

รายงานระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังกลุ่ม 5 ประเทศอาเซียนได้ลงนามข้อตกลงอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพ.ค. เหล่าผู้นำได้เน้นย้ำพันธสัญญาที่มีต่อโครงการดังกล่าว โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำงานตามแผนการที่วางเอาไว้ เพื่อขยายการเชื่อมโยงด้านการชำระเงินระดับภูมิภาคให้ครอบคลุมกับสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

แผนการดังกล่าวตั้งเป้าที่จะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการชำระเงินเพื่อการค้าข้ามพรมแดน การลงทุน การส่งเงินกลับประเทศ และกิจกรรมเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินระบบนิเวศทางการเงินแบบครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กลุ่มนักวิเคราะห์ระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกจะได้รับประโยชน์มากเป็นพิเศษ เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีการใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นจากการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งขึ้น

ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนในอาเซียนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการพึ่งพาสกุลเงินอื่น ๆ นอกอาเซียนในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน เช่น ดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้สกุลเงินต่าง ๆ ของอาเซียนอ่อนค่าลง ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจในอาเซียน เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าพลังงานและอาหารสุทธิ

“ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนในอาเซียนจะทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐและหยวนจีน” นายนิโก ฮัน นักวิเคราะห์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทดิโพลแมต ริสก์ อินเทลลิเจนซ์ (Diplomat Risk Intelligence) ซึ่งเป็นแผนกที่ปรึกษาและวิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบันของนิตยสารเดอะ ดิโพลแมต (The Diplomat) กล่าว

นายฮันกล่าวต่อว่า การใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนจะส่งเสริมเรื่องภูมิภาคนิยม (regionalism) และความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการรับมือกับเหตุการณ์ในต่างประเทศ โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มมหาอำนาจโลก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top