China Beige Book ชี้ผู้บริโภคจีนชะลอการใช้จ่าย คาดฉุดเศรษฐกิจอ่อนแรงลงอีก

China Beige Book International (CBBI) เปิดเผยรายงาน China Beige Book ซึ่งเป็นรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจจีนในวันนี้ (31 มิ.ย.) โดยระบุว่า กลุ่มผู้บริโภคของจีนปรับลดการใช้จ่ายเกือบทุก ๆ ด้านในเดือนก.ค. ยกเว้นการใช้จ่ายด้านการเดินทางและการรับประทานอาหารในภัตตาคาร ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของรายได้ในภาคส่วนที่สำคัญของจีนชะลอตัวลง ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างซบเซา

รายงาน China Beige Book ระบุว่า เกือบทุกภาคส่วนที่สำคัญของจีนเผชิญกับภาวะอ่อนแอทั้งในด้านรายได้และผลกำไรในเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบหนักที่สุด ขณะที่ยอดขายในธุรกิจการเดินทาง อาหาร และเครื่องดื่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ไม่สอดคล้องกันในแต่ละภาคส่วน

ภาคการผลิตของจีนเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก โดยผลผลิตในภาคการผลิตเดือนก.ค.ขยับขึ้นเล็กน้อยจากระดับของเดือนก.ค. แต่ยอดสั่งซื้อภายในประเทศชะลอตัวลง ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าจีนจากต่างประเทศฟื้นตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่ได้รับปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

อย่างไรก็ดี China Beige Book ระบุว่า การที่รายได้ด้านการคลังของจีนปรับตัวขึ้นในเดือนก.ค. ถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อนักลงทุนว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จีนจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2566 ของจีนขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแม้ว่าขยายตัวรวดเร็วขึ้นจากระดับ 4.5% ในไตรมาส 1 แต่ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 7.3%

ส่วนอัตราว่างงานโดยรวมของจีนในเดือนมิ.ย.อยู่ที่ระดับ 5.2% แต่อัตราว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวซึ่งมีอายุระหว่าง 16-24 ปี อยู่ที่ระดับ 21.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ตลาดการเงินจับตาความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากหนังสือพิมพ์ไชน่า ซิเคียวริตีส์ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า รัฐบาลจีนอาจจะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นทางธุรกิจทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งในหมู่บริษัทต่างชาติ หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนได้ประชุมร่วมกับบรรดาผู้บริหารของบริษัทเอกชนเมื่อไม่นานมานี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top