กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ประจำเดือนก.ค.เมื่อวันอังคาร (25 ก.ค.) โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย 0.1 จุด สู่ระดับ 4.6% จากการประมาณการครั้งที่แล้วที่จัดทำเมื่อเดือนเม.ย. แต่ลดคาดการณ์สำหรับปีหน้า 0.1 จุด สู่ 4.5% หลังขยายตัว 5.5% ในปี 2565
ขณะเดียวกัน IMF ได้คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาเอเชียในปีนี้ที่ 5.3% และลดคาดการณ์สำหรับปีหน้าลง 0.1 จุด สู่การขยายตัว 5.0% หลังขยายตัว 4.5% ในปี 2565
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ IMF ได้คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปีนี้ที่ 5.2% และคงคาดการณ์สำหรับปีหน้าที่ 4.5% หลังขยายตัว 3.0% ในปี 2565
ส่วนอินเดียถูกปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ 0.2 จุด สู่ 6.1% และคงคาดการณ์สำหรับปีหน้าที่ 6.3% หลังขยายตัว 7.2% ในปี 2565
รายงานระบุว่า การเติบโตด้านการบริโภคกระเตื้องขึ้นแบบเป็นวงกว้าง โดยสอดคล้องกับการคาดการณ์การในเดือนเม.ย. แต่การลงทุนทรุดตัวลง เนื่องจากภาวะขาลงในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนมีความยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี การส่งออกสุทธิที่แข็งแกร่งกว่าคาดนั้น จะช่วยชดเชยภาวะอ่อนแอด้านการลงทุน แม้แรงหนุนจากปัจจัยดังกล่าวจะลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ตาม
ส่วนการเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียนั้นสะท้อนถึงแรงผลักดันจากกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาส 4/2565 เนื่องจากการลงทุนภายในประเทศแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์
IMF ได้เพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ 0.2 จุด สู่ 1.8% แต่ลดคาดการณ์สำหรับปีหน้า 0.1 จุด สู่ระดับ 1.0% หลังขยายตัว 2.1% ในปี 2565
นอกจากนี้ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 3% จากเดิมคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 2.8% และคงคาดการณ์สำหรับปีหน้าที่ 3.0% หลังขยายตัว 3.5% ในปี 2565
“เศรษฐกิจโลกยังคงมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ทำให้มีสัญญาณความคืบหน้าในระยะใกล้”
“อย่างไรก็ดี ยังคงมีความท้าทายอีกมากรออยู่ข้างหน้า และขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะทำการเฉลิมฉลอง” นายปิแอร์-โอลิวิเอร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักวิเคราะห์ของ IMF ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 66)
Tags: GDP, IMF, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, เศรษฐกิจโลก