น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยแผนปฏิบัติการฉบับนี้ จัดทำขึ้นตามแนวทางตามคู่มือว่าด้วยแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามกรอบแนวทางของหลักการ United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ การคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา รวมทั้งเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะสำคัญที่ประเทศไทยรับมาปฏิบัติตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน
สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ประกอบด้วย 4 แผน ได้แก่
1.แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน อาทิ
(1) การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น จัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมปฏิญญาไตรภาคี เรื่อง หลักการว่าด้วยสถานประกอบการข้ามชาติและนโยบายสังคม (MNE Declaration) มีความสอดคล้องกับบริบทของไทย
(2) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การจัดสวัสดิการสังคม การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอ
(3) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านแรงงานและระบบค้นหาข้อมูลด้านแรงงาน
(4) การขจัดการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด และการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ทางแรงงานอย่างเท่าเทียม โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงานกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่อาจถูกเลือกปฏิบัติ เช่น แรงงานสตรี กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ผู้สูงอายุ ผู้เคยถูกคุมขัง ให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน เพื่อลดอคติและการตีตราต่อแรงงานกลุ่มเปราะบาง
2. แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อาทิ
(1) การพัฒนาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
(2) จัดให้มีการหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในรูปแบบออนไลน์และในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
(3) เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการและการจัดทำผังเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(4) กำหนดช่องทางและมาตรการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยการชดเชยเยียวยาต้องรวดเร็ว เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
3. แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ
(1) ผลักดันการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED)
(2) บูรณาการ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระบบการไกล่เกลี่ย ในทุกระดับชั้นของกระบวนการยุติธรรม
(3) เยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายตามกรอบกฎหมายและพัฒนามาตรการเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
4. แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ อาทิ
(1) ศึกษาและจัดทำแนวปฏิบัติและกระบวนการให้ความเห็นต่อสัญญาในกรณีที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจกับบรรษัทข้ามชาติ
(2) พัฒนามาตรการและกลไกการกำกับดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ให้เคารพสิทธิมนุษยชน หลักการ UNGPs และเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)
(3) พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนรวมถึงผลกระทบ
น.ส.รัชดา กล่าวว่า กลไกการกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับนี้ จะดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยมีอำนาจและหน้าที่ เช่น พัฒนาและปรับปรุงแผนปฏิบัติการ และแก้ไขปัญหากรณีข้อร้องเรียนร้องทุกข์จากการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการ
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้รวบรวมและจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 2 ระยะ คือ ระยะครึ่งรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566-2568) และระยะเต็มรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566-2570) เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาและเผยแพร่ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 66)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, รัชดา ธนาดิเรก, สิทธิมนุษยชน