นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ปรับประมาณการผลิตปี 66 เหลือ 1.90 ล้านคัน หรือลดลงจากเดิม 2.56% (1.95 ล้านคัน) โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกยังคงเดิมที่ 1.05 ล้านคัน แต่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ปรับลดลงเหลือ 8.5 แสนคัน หรือลดลงจากเดิม 5.56% (9 แสนคัน) เนื่องจากปัจจัย ดังนี้
– รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีส่วนแบ่งตลาตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมากกว่า 5% โดยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์นำเข้า ไม่ได้ผลิตในประเทศ จึงลดเป้าการผลิตเพื่อขายในประเทศลงประมาณ 5% ของเป้าเดิม โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง
– สถาบันการเงิน เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของ GDP โดยเฉพาะรถกระบะ และรถบรรทุก
– การส่งออกสินค้าอื่นๆ ของประเทศลดลงติดต่อกันหลายเดือน ทำให้หลายอุตสาหกรรมลดกะการทำงาน และลดการทำงานล่วงเวลา ส่งผลให้คนทำงานขาดรายได้ และอำนาจซื้อลดลง
– ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น รวมทั้งค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้มีหนี้และประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น จึงระวังการใช้จ่าย ทำให้อำนาจชื้อลดลง ธุรกิจหลายสาขาชะลอตัวลง เช่น วัสดุก่อสร้าง ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ
“ในช่วง 6 เดือนหลังของปี ถ้ามีรถ EV ราคาถูกเข้ามาจากประเทศจีนเพิ่มเติม ก็อาจจะมีการปรับเป้าการผลิตอีกครั้ง” นายสุรพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 66)
Tags: ผลิตรถยนต์, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์, อุตสาหกรรมยานยนต์