CCP เร่งส่งมอบงาน-นับหนึ่งรายได้โลจิสติกส์ดันครึ่งปีหลังโตพุ่ง ลุยกวาดงานใหม่เข้าพอร์ต

นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก ตามการส่งมอบงานเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3/66 เป็นต้นไป หลังจากการส่งมอบงานชะลอไปในช่วงไตรมาส 2/66 เนื่องจากเป็นช่วงมีวันหยุดยาว และเครื่องจักรในการผลิตเสีย แต่ได้เร่งแก้ไขแล้วทำให้กลับมาผลิตและส่งมอบงานได้ตามปกติ จึงเชื่อว่ารายได้จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะรับรู้รายได้จากมูลค่างานในมือ (Backlog) ราว 850 ล้านบาท จาก Backlog ที่มีอยู่ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทมีงานโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเพิ่มที่อยู่ระหว่างทยอยส่งมอบงานในปลายไตรมาส 2/66 ไปจนถึงไตรมาส 4/66

ประกอบกับ มีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ EEC มีแนวโน้มเร่งตัวก่อสร้างตามแผนพัฒนาระยะที่ 2 รวมถึงได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติตั้งโรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในโซน EEC เป็นจำนวนมาก ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น หนุนความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) เพิ่มขึ้น ได้แก่ บ่อพัก รางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำขนาดพิเศษ อีกทั้งในส่วนของความต้องการใช้อิฐมวลเจายังมีความต้องการสูงต่อเนื่องในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปิดโครงการบ้านต่อเนื่อง ทำให้อิฐมวลเบามีคิวส่งมอบ 2 เดือนต่อเนื่อง

ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/66 ธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีการร่วมมือพันธมิตรในบริษัทย่อย บริษัท ชาลี ท็อป โลจิสติกส์โซลูชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการบริหารจัดการคลังสินค้า เขตปลอดอากร (Free Zone) ในโซนแหลมฉบัง และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พื้นทั่คลังสินค้า 2,800 ตารางเมตร จะเริ่มเปิดให้บริการ และเริ่มรับรู้รายได้ ซึ่งบริษัทจะมีรายได้เพิ่มเข้ามาจากการให้เช่าที่ดินในการทำคลังสินค้า ซึทงเป็นที่ดินของบริษัท และรายได้จากบริษัท ชาลี ท็อป โลจิสติกส์โซลูชั่น จำกัด ซึ่งมีผู้เช่าครบ 100% แล้ว ทำให้เป็นปัจจัยหนุนต่อรายได้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 66 โดยที่บริษัทยังมั่นใจรายได้ในปี 66 เป็นไปตามเป้าหมาย 2.6 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัทย่งเร่งเดินหน้าปรับปรุงโรงงานการผลิต เตรียมลงทุนเครื่องจักรใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้ารับงานหลากหลาย ช่วยลดต้นทุนแรงงาน ลดความผิดพลาด ความสูญเสียในการผลิต เพิ่มความสามารถทำกำไร อีกทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ คอนกรีตสำเร็จรูป ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับงานโครงสร้างพื้นฐาน และงาน Landscape ทั่วประเทศ เช่น กำแพงกันดินรุ่นใหม่ และ แผ่นทางเท้า รุ่นใหม่ เป็นต้น โดยใช้งบลงทุนในช่วงปี 66-67 รวม 150-180 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนการซื้อเครื่องจักรใหม่รองรับการผลิตคอนกรีตแบบแห้ง 70 ล้านบาท ซึ่งจะมีกำลังการผล้ตเพิ่มเข้ามาอีก 2,000 คิว/เดือน การซื้อเครื่องจักรรองรับการผลิตคอนกรีตแบบเปียกที่จะเข้ามาในต้นปี 67 ที่ 30 คิว/เดือน กำลังการผลิต 500-600 คิว/เดือน การสร้างคลังสินค้า 50 ล้านบาท และส่วนที่เหลือรองรับการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องจักรใหม่

นอกจากนี้บริษัทพร้อมเดินหน้าประมูลงานภาครัฐและเอกชน จากทั่วประเทศเข้ามาเพิ่มเติมอีกในช่วงครึ่งปีหลังควบคู่ การปรับกลยุทธ์เข้าประมูลงานโครงการระยะสั้น รับรู้รายได้เร็ว เช่น งานถนน งานนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีงานที่จะเข้าประม๋ลราว 500 ล้านบาท คาดหวังได้งานราว 300 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับมูลค่างานในมือ (Backlog) ไว้ไม่ต่ำกว่า 1.6-1.8 พันล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบทำให้งานภาครัฐในปัจจุบีนเกิดการชะลอตัว รวมถึงงานลงทุนของภาคเอกชนบางรายยังรอความชัดเจนจากการเมืองในประเทศด้วยเช่นกัน โดยที่สัดส่วนงานของบริษัทในปัจจุบันเป็นงานภาครัฐ 65% และงานภาคเอกชน 35%

ขณะที่ปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทให้ดีขึ้น นอกเหนือจากการรับงานระยะสั้นที่เป็นงานที่เน้นการขายปลีก ซึ่งมีมาร์จิ้นที่สูงกว่างานโครงการขนาดใหญ่ บริษัทมองถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักรซึ่งสามารถเข้ามาทดแทนแรงงานคนได้ ซึ่อเครื่องจักรใหม่ที่จะเข้ามานั้นสามารถลดการใช้แรงงานคนได้ลดลงเหลือ 5-8 คน/เครื่อง จากเดิม 10 คน/เครื่อง ส่งผลให้ต้นทุนในการจ้างแรงงานลดลง และลดความเสี่ยงจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

ส่วนแนวโน้มราคาต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตคอนกรีตได้มีการปรับเพิ่มขึ้นมาสูง 5-10% ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และยีงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งบริษัทได้มีการปรับราคาขายขึ้นให้สอดคล้องกับราคาต้นทุนวัตถุดิบไปแล้ว ทำให้ยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ในระดับที่เหมาะสม ประกอบกับการที่บริษัทมีซัพพลายเออร์รายอื่นสำรองไว้ทำให้สามารถช่วยในการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบในระดับที่เหมาะสมได้ด้วยเช่นกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top