ก้าวไกล ส่งไม้ต่อ “เพื่อไทย” ขึ้นแกนนำตั้งรัฐบาลพันธมิตร 8 พรรค

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพันธมิตร 8 พรรค โดยจะเสนอชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ หลังพรรคก้าวไกลไม่สามารถผลักดันให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ เนื่องจากมีการสกัดจากองคาพยพต่างๆ ของขั้วรัฐบาลเดิม โดยมีการหยิบยกมาตรา 112 ขึ้นมาอ้าง

“ต้องขอโทษพี่น้องประชาชน ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล”นายชัยธวัช กล่าวในการแถลงข่าว

นายชัยธวัช ระบุว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ทุกอย่างชี้ชัดว่าทุกองคาพยพของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งการเมืองจารีต ทุนผูกขาด และสถาบันองค์กรต่างๆ ที่เป็นบริวารแวดล้อมทั้งหมดไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเอาเรื่อง ม.112 มาบังหน้า และอ้างความจงรักภักดีมาปะทะกับการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังตัดสิทธิการเมืองของแกนนำพรรคและยุบพรรคก้าวไกลให้ได้

ด้วยเหตุนี้ สว. จึงฝืนมติมหาชน ไม่โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร มิหนำซ้ำ ยังกล้าทำลายหลักการ ตีความข้อบังคับของรัฐสภาให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนการล้มล้างการปกครอง หรือฉีกรัฐธรรมนูญผ่านกฎหมู่ เพียงเพื่อต้องการขัดขวางไม่ให้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ในครั้งที่สอง จุดยืนของพรรคก้าวไกลไม่ยอมรับการตีความเรื่องนี้ด้วยข้อบังคับข้อที่ 41 เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“การที่นายพิธา ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ได้หมายความว่าภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อพลิกขั้วอำนาจรัฐบาลจะไม่สำเร็จไปด้วย เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 ยังคงอยู่ นั่นคือการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิมให้สำเร็จ สิ่งสำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องนายพิธา จะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ แต่คือเรื่องประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ หยุดการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่

เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสให้ประเทศ โดยให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรคที่ได้เคยทำ MOU กันไว้ ดังนั้น ในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล” นายชัยธวัช กล่าว

หลังจากนี้จะเป็นบทบาทหลักของพรรคเพื่อไทยในการพูดคุยถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยว่าจะเสนอแคนดิเดทนายกฯ คนใดในการประชุมรัฐสภาครั้งหน้า ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นใครโดยเฉพาะ ขึ้นอยู่กับมติของพรรคเพื่อไทย

หากพรรคเพื่อไทยจะดึงพรรคที่ 9 หรือพรรคที่ 10 เข้ามานั้น ก็คงต้องมีการพูดคุยใน 8 พรรค และพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เสนอว่า หากมีการดึงพรรคเข้ามาเพิ่มจะเป็นพรรคใดบ้าง ดังนั้น จะมีเงื่อนไขใด หรือยอมรับได้หรือไม่ ต้องรอฟังพรรคเพื่อไทยก่อน และภายใน 1-2 วันนี้ รอการประสานจากพรรคเพื่อไทย

พร้อมย้ำจุดยืน “มีลุงไม่มีเรา” โดยระบุว่าเรื่องนี้เป็นจุดยืนที่ชัดเจนสำหรับพรรคก้าวไกล สิ่งที่ได้สัญญาต่อประชาชนทั่วประเทศในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราไม่สามารถเสียสัจจะเรื่องนี้ได้ ส่วนหากจะไปถึงจุดนั้นจะถอยเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ขอรอดูก่อน อย่าเพิ่งรีบสรุป คิดว่าเรื่องนี้ทางพรรคเพื่อไทยคงนำมาพูดคุยกับพรรคก้าวไกลหลังจากนี้

ส่วนในประเด็นเรื่องมาตรา 112 นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ต้องรอฟังจากพรรคเพื่อไทย เพราะข้อมูลข่าวสารมีหลายอย่างมาก โดยวิธีการที่ถูกต้องคงรอการพูดคุยอย่างเป็นทางการพรรคเพื่อไทย

ขณะนี้พรรคก้าวไกลมีคดีในศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ทั้งเรื่องถือหุ้นไอทีวี และล้มล้างการปกครองจากนโยบาย 112 แม้ทั้ง 2 คดีจะไม่มีการร้องเรื่องยุบพรรคแต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะนิติรัฐในยุคนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top