สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ระบุว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงเสนอได้โดยไม่มีข้อจำกัดเพราะรัฐธรรมนูญมิได้จำกัดไว้ และไม่อาจใช้ข้อบังคับข้อ 41 ซึ่งใช้กับการยื่นญัตติทั่วไปมาใช้บังคับได้
ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อนายพิธา รวมทั้งสมาชิกที่รับรองการเสนอชื่อจึงเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ สมาชิกดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและการลงมติของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 394 คน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 หรือไม่
นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ญัตติที่เสนอต่อสภา มี 2 ประเภท คือ
สำหรับการเสนอญัตติทั่วไปของรัฐสภาจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 41 กล่าวคือ ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในที่ประชุมเดียวกันหรือที่เรียกว่าเป็นญัตติซ้ำ
ส่วนการเสนอญัตติที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญจะบัญญัติถึงวิธีการยื่นและข้อจำกัดในการยื่นไว้ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เช่น
(1) ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 151 และ 152 รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องมี สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายและจะยื่นได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154
(2) ญัตติการเสนอชื่อนายพิธาอันเป็นญัตติเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 นั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ของพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี สส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 50 คน ซึ่งญัตติดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญมิได้มีข้อจำกัดจำนวนครั้งในการยื่นเหมือนกับกรณีญัตติตามมาตรา 151 และ 152
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 66)
Tags: การเมือง, ญัตติ, นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์, พรรคก้าวไกล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, รัฐธรรมนูญ, รัฐสภา, สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย, โหวตนายก