การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพลมฟ้าอากาศในระยะยาว สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases (GHGs)) ที่กักเอาความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศของโลก ก๊าซเรือนกระจกนั้นหมายรวมถึง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และกลุ่มก๊าซฟลูออริเนตประกอบไปด้วยไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ รวมถึงสารซีเอฟซี ที่เกิดจากการสังเคราะห์ของมนุษย์
การอธิบายและตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมักถูกวัดโดยหน่วย คือ คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (carbon dioxide equivalent หรือ CO2e) กล่าวคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นเทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งวัดเป็นจำนวนตัน) แล้วก็มีปริมาณการปล่อยเท่าใด การเปรียบเทียบในหน่วย CO2e นั้นมักจะถูกใช้เพื่อการเปรียบเทียบก๊าซเรือนกระจกประเภทต่าง ๆ โดยตั้งอยู่บนฐานของค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential หรือ GWP)
ภาคการผลิตมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงหนึ่งในห้า และใช้พลังงานถึงร้อยละ 54 ของแหล่งพลังงานของโลก ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาคการผลิตจะต้อง “ปรับตัว” โดยลดการใช้คาร์บอนในกระบวนการการผลิตและประกอบการของตน หากองค์กรเหล่านี้ประสงค์จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บรรษัทข้ามชาติจำนวนมากได้ให้คำมั่นต่อสาธารณชนในการเป็น “องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน” ผ่านการการผลิตสินค้าและประกอบกิจการของตน โดยมีการตั้งเป้าหมายที่สามารถตรวจวัดความเป็นกลางทางคาร์บอนได้โดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ “การทำให้มีความเป็นกลาง (neutralization)” ทางคาร์บอนในบริบทนี้ หมายถึง การที่องค์กรนำเอามาตรการใด ๆ เพื่อทำให้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังชั้นบรรยากาศ ซึ่งหมายถึงการดักจับก๊าซเรือนกระจกและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดับจับอย่างถาวรอีกด้วย
ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเด็ดขาด แต่ยอมให้มีการหักกลบการลดการปล่อยกับปริมาณการปล่อย ซึ่งเป็นข้อความคิดที่ต่างจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) อันเป็นข้อความคิดที่ให้ความสำคัญกับการ “ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย” หรือทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีปริมาณเป็นศูนย์ (ปริมาณการปล่อยที่คงเหลือในจำนวนเล็กน้อยนั้นสามารถดูดซับได้โดยมหาสมุทรและป่าไม้
การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้นจะต้องเริ่มต้นจากการตรวจสอบว่าองค์กรนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าใด กล่าวคือ จะต้องทราบเสียก่อนว่าตนเองปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าใดก่อนจึงจะสามารถบอกได้ “อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ว่าองค์กรนั้นมีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในทางปฏิบัติการตรวจปริมาณดังกล่าวจะแบ่งออกเป็นสามขอบเขต เพราะแต่ละองค์กรอาจจะมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่มีความแตกต่างกัน
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่หนึ่ง (Scope 1 emissions) นั้นเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากการควบคุมขององค์กรหรือที่องค์กรเป็นเจ้าของ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อไอน้ำ เตาหลอมโลหะ และยานยนต์ขององค์กร
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่สอง (Scope 2 emissions) เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทางอ้อม การปล่อยก๊าซทางอ้อมนั้นเกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานที่ซื้อหรือได้มาเท่านั้น เช่น ไอน้ำไฟฟ้า ความร้อน หรือการทำความเย็น ซึ่งเกิดขึ้นนอกสถานที่และถูกใช้โดยองค์กร
ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่สาม (Scope 3 emissions) นั้นเป็นการปล่อยมลพิษทางอ้อมอื่นๆ ทั้งหมดจากกิจกรรมขององค์กรไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในขั้นต้นน้ำหรือปลายน้ำก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นจากแหล่งที่องค์กรไม่ได้เป็นเจ้าของหรือควบคุม
ดังนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากการกิจกรรมในโรงงานของตนหรือที่ตนควบคุมโดยตรง ผู้ผลิตยังมีความรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตหรือถูกปล่อยโดยบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตน เช่น เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่องค์กรจะต้องใช้ในการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่จะนำออกสู่ท้องตลาด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรม (carbon footprint) ขององค์กรหนึ่งจะนับรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) อีกด้วย
ดังนั้น ผู้ผลิตที่อาจจะไม่ได้ให้คำมั่นในการองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะปรับตัวให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ หากยังคงประสงค์จะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบรรษัทข้ามชาติที่ได้ให้คำมั่นต่อสาธารณชนในการเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นจะเริ่มต้นจากการ “ทราบถึง” ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กร หรืออาจเรียกได้ว่าต้องรู้ว่าเรามีปัญหาสุขภาพในเรื่องใดก่อนจะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้ การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นกระบวนการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กรนั้น ๆ (Personal Carbon Footprint หรือ “CFO”)
การทำ CFO จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นที่ยอมรับ ในทางปฏิบัติการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกขององค์กรนั้นจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยได้แก่กิจกรรมที่ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเครื่องจักรในโรงงาน (Scope 1 emissions) หรือปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Scope 2 emissions) ข้อมูลเหล่านี้จะเรียกโดยรวมว่า “Activity Data” คูณด้วยค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs Emission Factor หรือ “EF”) โดยผลของการคำนวณจะได้ออกมาเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) โดยสามารถแสดงเป็นสมการ (อย่างง่าย) ได้ตามนี้
GHG Emissions Footprint = Activity Data X Emission Factors
(total CO2e/year)
เมื่อทราบถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรแล้ว องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนจะต้องกำหนดเป้าหมายของการลดการปล่อยคาร์บอนขององค์กรตามความเหมาะสมและความพร้อม เช่น แบ่งเป็นมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรให้ใช้พลังงานน้อยลง ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติที่นำเข้ามาใช้ในการควบคุมให้การผลิต การส่ง พลังงาน รวมถึงให้การใช้พลังงานนั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด (Energy Management System หรือ EMS) อาจมีการเปลี่ยนแปลงระบบการให้แสงสว่างที่ใช้พลังงานน้อยลง หรืออาจมีการติดระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะถูกส่งและจำหน่ายในระบบโครงข่ายไฟฟ้า
การปรับใช้มาตรการข้างต้นจะต้องถูกนำมาคำนวณว่ามีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ในปริมาณเท่าใด โดยใช้วิธีการคิดคำนวณแบบเดียวกับการคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์กล่าวคือตั้งอยู่บนพื้นฐานของกิจกรรมการลดการปล่อยคาร์บอนและค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสามารถแสดงเป็นสมการ (อย่างง่าย) ได้ตามนี้
GHG Reduction = Emission Factors of each reduction activity X
(total CO2e/year) Emission Reduction (tCO2 eq/year)
องค์กรที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะถูกส่งและจำหน่ายในระบบโครงข่ายไฟฟ้าสามารถดำเนินการเพื่อให้ได้รับใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “Renewable Energy Certificate (REC)” ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าไฟฟ้าที่ผลิตมา (เช่น 1 เมกะวัตต์) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Environmental Attributes)
โดยไฟฟ้าที่จะเป็นฐานในการออก REC นั้นจะต้องไม่ใช่ไฟฟ้าที่ถูกใช้โดยองค์กรที่ผลิตเองจะต้องถูกจ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรืออาจเลือกที่จะเข้าสู่กระบวนการทำให้ได้คาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเอกสารที่รับรองสิทธิในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตนั้นสามารถถูกจำหน่ายได้ และเป็นแหล่งรายรับขององค์กรได้
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 66)
Tags: Power of The Act, ก๊าซเรือนกระจก, คาร์บอนไดออกไซด์, พลังงาน, พลังงานไฟฟ้า