ส่องธุรกิจ Food Delivery ปีนี้หดตัว แนะปรับสมดุลเอื้อต้นทุนพุ่ง-แข่งขันเดือด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในปี 2566 อยู่ที่ราว 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.6% จากปี 2565 จากค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณ 8.6% จากค่าเฉลี่ยในปีก่อน หรือมีราคาเฉลี่ย 183 บาท/ครั้ง ขณะที่ปริมาณการสั่งอาหาร ลดลงจากปีก่อน 11.3% จาการหดตัวแรงในกลุ่มของเครื่องดื่มและเบเกอรี่

ทั้งนี้ การเติบโตของแต่ละแพลตฟอร์ม Food Delivery มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การดูแลต้นทุนทางธุรกิจ และสร้างผลกำไรให้กลับมาเป็นบวก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่ต้นทุนการทำธุรกิจยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งต้นทุนในการดำเนินงาน (ค่าการตลาด ค่าจ้างและค่าบริหารจัดการระบบไอที เป็นต้น) และต้นทุนทางการเงิน ขณะที่ภาวะตลาดเงินและตลาดทุน ยังมีแนวโน้มผันผวนสูง ซึ่งอาจสร้างข้อจำกัดในการจัดหาเงินทุน ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ Food Delivery คงต้องปรับสมดุลในการทำธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเผยผลสำรวจความเห็นผู้บริโภคต่อการใช้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (44%) ยังมีการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery แต่ความถี่ในการสั่งลดลง เนื่องจากปรับเปลี่ยนมานั่งทานนอกบ้าน ซื้ออาหารกลับไปทานหรือทำเองที่บ้านมากขึ้น รวมถึงไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการสั่งอาหาร และกลุ่มตัวอย่างในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (42%) มองว่าน่าจะใช้บริการเท่าเดิม ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช้บริการเลย คิดเป็น 8% และกลุ่มที่ใช้งานมากขึ้น คิดเป็น 6%

ผลสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า แม้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่ายังคงใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอปฯ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการสั่งอาหาร มีผลทำให้กลุ่มตัวอย่างสั่งลดลง หรือหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารในระยะข้างหน้า อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาอาหารและค่าขนส่ง รวมไปถึงประเด็นเฉพาะที่เกิดจากการสั่งอาหาร เช่น ปัญหาอาหารที่สั่งแล้วไม่ตรงปกจากร้านอาหาร ปริมาณอาหารที่ได้รับรู้สึกไม่คุ้มกับค่าเงินที่เสียไป ปัญหาความล่าช้าในการส่งอาหาร ปัญหาความผิดพลาดและอาหารเสียหาย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ส่ง

นอกจากนี้ หากค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหาร หรือค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ก็มีผลต่อการใช้บริการสั่งอาหารจัดส่งยังที่พักเช่นกัน

“ประเด็นดังกล่าว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสะสมมานาน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ คงต้องทำงานร่วมกับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ใช้บริการ” บทวิเคราะห์ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ยังคงต้องแข่งกันเข้มข้นขึ้นท่ามกลางตลาดที่จำกัดลง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับคุณภาพการให้บริการและตอบโจทย์ลูกค้าลงระดับ Sub-segment เช่น ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอ Customized loyalty program หรือโปรโมชั่นที่ดึงดูด เป็นต้น เพื่อรักษายอดการใช้บริการของกลุ่ม Gen Y-X และเพิ่มรายได้จากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่าง Gen Z ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน

โดยผลสำรวจยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (80%) ใช้บริการมากกว่า 1 แอปฯ โดยกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างใช้แอปฯ สั่งอาหารประจำอยู่ 2 แอปฯ เนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการสับเปลี่ยนแอปฯ เพื่อการเปรียบเทียบราคา ตามโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษ อีกทั้งร้านอาหารมีการใช้บริการหลายแพลตฟอร์มฯ รวมถึงกลยุทธ์ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ ที่ร่วมกับกับร้านอาหารในการทำโปรโมชั่นการตลาดเฉพาะในบางแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการสั่งอาหารจัดส่งไปยังที่พัก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y (58%) รองลงมา เป็นกลุ่ม Gen X (28%) ซึ่งเป็นกลุ่มในวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ ขณะที่กลุ่มผู้บริโภค New generation หรือ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาและวัยเริ่มทำงาน แม้จากผลสำรวจสะท้อนว่ามีสัดส่วนผู้ใช้งานน้อยกว่า แต่กลับพบว่ามีค่าเฉลี่ยความถี่ในการใช้งานสูงกว่ากลุ่มอื่น สะท้อนถึงพฤติกรรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ น่าจะให้ความสำคัญในการกระตุ้นตลาดในกลุ่มนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ การนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้บริโภคแล้ว จะยังช่วยให้แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทันท่วงที เช่น การพัฒนาระบบ AI ร่วมกับการใช้ ProgrammaticAdvertising เพื่อให้สามารถนำเสนอโฆษณาร้านอาหาร โปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแบบ Real-time

“ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลาย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้มีความเฉพาะมากขึ้น เช่น การใช้ฐานข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฯ ร่วมกับพันธมิตรร้านอาหารทำการตลาดเจาะกลุ่มตามไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกัน อาทิ การให้ส่วนลดพิเศษกับผู้ที่สั่งอาหารร้านอาหารเดิมเป็นประจำ หรือการทำผลิตภัณฑ์เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น กลุ่ม Gen Y และกลุ่ม Gen X มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่มีความหลากหลาย” บทวิเคราะห์ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top