บมจ.สยามอีสต์ โซลูชั่น (SE) วางกลยุทธ์การเติบโตทั้ง Organic พร้อมไปกับ Inorganic ด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิม ขยายฐานลูกค้าใหม่ จัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ หนุนรายได้ธุรกิจหลักปี 66 เติบโต 15-20% จากปีก่อน พร้อมมองโอกาสเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือร่วมลงทุน (JV) กับพาร์ทเนอร์ เพื่อต่อยอดยกระดับการเป็นผู้ให้บริการทุกด้านให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร
SE ให้บริการจัดหาและจำหน่ายสินค้าทางวิศวกรรม พร้อมให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีปั๊ม, กลุ่มผลิตภัณฑ์การจัดการ กระบวนการผลิตและระบบท่อ, กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุนวัตกรรม, กลุ่มผลิตภัณฑ์ธุรกิจงานบริการ และ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์
กลุ่มลูกค้าหลักเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดจำนวนทั้งสิ้น 4,000 ราย กระจายไปในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มยานยนต์ 15%, ปิโตเคมี 15% เป็นต้น
นายเกริก ลีเกษม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SE ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า การเติบโตแบบ Organic growth บริษัทยังมุ่งรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ รวมถึงจัดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อนำเสนอลูกค้า ครอบคลุมความต้องการมากยิ่งขึ้น บวกกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้เห็นงบประมาณการลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มกลับมามากขึ้น จึงคาดว่าจะสนับสนุนให้รายได้จากธุรกิจหลักในปีนี้เติบโตได้ 15-20% จากปีก่อนอยู่ที่ 611.70 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างการเสนองานใหม่ มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท คาดหวังว่าจะได้รับงานเข้ามาราว 25% เป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ SE ยังมองโอกาสในการเติบโตแบบ Inorganic growth ไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากเห็นว่าโรงงานอุตสาหกรรมมีหลากหลายปัญหา นำมาสู่ไอเดียที่จะขยายการให้บริการครบวงจรในส่วนที่บริษัทยังขาดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการขยะ (Waste Management), Internet of Things (IoT) และไฟแนนซ์ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม และต่อยอดการเติบโตในอนาคต ผ่านการจับมือกับพันธมิตร ทั้งในรูปแบบเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมลงทุน (JV) คาดว่าจะห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ราว 1-2 ดีล
ณ สิ้นไตรมาส 1/66 บริษัทฯ มีเงินสดในมือราว 100 ล้านบาท รวมถึงยังมีความสามารถในการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และการหาแหล่งเงินทุนผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน
นายเกริก กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/66 ถือว่ายังเป็นไปตามคาดการณ์ ขณะที่หากมองไปในครึ่งปีหลังนี้ ก็คาดว่าจะเห็นการเติบโต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเป็นช่วงของไฮซีซั่นของธุรกิจ และที่สำคัญจะมีการส่งมอบงานในมือ (Backlog) ค่อนข้างมากด้วย
กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในระยะ 3-5 ปีจากนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจให้มีความครบวงจรมากขึ้น ผ่านการ M&A ในธุรกิจ10 กลุ่มเป้าหมายหลักที่ SE ให้ความสนใจ เช่น การบริหารจัดการขยะ (Waste Management), Internet of Things (IoT) และไฟแนนซ์ จากปัจจุบันที่ SE เป็นผู้จัดหาและจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม พร้อมให้บริการต่างๆ แต่ก็ยังมีช่องวางในเรื่องดังกล่าวอยู่มาก เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการบริการแบบ One touch point นอกจากนั้นยังเป็นการสร้าง Value added ที่เหนือกว่าคู่แข่ง
“การจะไปสู่เป้าหมายการให้บริการอย่างครบวงจรดังกล่าวได้นั้น เราจะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. การรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้น โดยหลีกเลี่ยงรับงานที่มีมาร์จิ้นต่ำในภาวะเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย และค่าเงินยังมีความผันผวน 2. การพัฒนาและวิจัย (R&D) ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างศึกษาการทำแอปพลิคชั่น เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาของลูกค้า และ 3. Synergy หรือการหาพาร์ทเนอร์” นายเกริก กล่าว
จุดแข็งของ SE คือ มีลูกค้ามากกว่า 4,000 ราย ทำให้มองเห็นโอกาสในหลายด้าน ขณะที่จุดอ่อน หรือปัจจัยเสี่ยงของบริษัท คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และซัพพลายเออร์ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นความเสี่ยง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่บริหารจัดการได้
ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน บริษัทฯ ก็ยอมรับว่ามีความกังวลอยู่บ้าง แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทโดยตรงนั้นค่อนข้างน้อย เนื่องจาก SE จำหน่ายสินค้าจำพวก Maintenance, Repair, and Operating ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) ซึ่งถือเป็นลูกค้ากลุ่มหลัก ขณะเดียวกันผลกระทบที่จะเกิดกับโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยตรงก็จำกัดด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 66)
Tags: SCOOP, SE, สยามอีสต์ โซลูชั่น, หุ้นไทย, เกริก ลีเกษม