สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพุธ (12 ก.ค.) ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 80 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยเงินเฟ้อชะลอตัวลงและเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 92 เซนต์ หรือ 1.23% ปิดที่ 75.75 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 71 เซนต์ หรือ 0.89% ปิดที่ 80.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 4.0% ในเดือนพ.ค.
วลาดิเมียร์ เซอร์นอฟ นักวิเคราะห์จากบริษัท FX Empire กล่าวว่า การชะลอตัวของเงินเฟ้อสหรัฐทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรืออาจจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าวยังช่วยบดบังปัจจัยลบจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่พุ่งขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 5.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 1 ล้านบาร์เรล
ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันจากจีนและประเทศกำลังพัฒนา ประกอบกับการที่กลุ่มโอเปกพลัสปรับลดการผลิตน้ำมันนั้น อาจจะทำให้ตลาดน้ำมันโลกเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียประกาศขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึงสิ้นเดือนส.ค. ขณะที่รัสเซียจะปรับลดการส่งออกน้ำมันจำนวน 500,000 บาร์เรล/วันในเดือนส.ค. โดยทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปกพลัส
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 66)
Tags: WTI, น้ำมัน WTI, ราคาน้ำมัน