จบศึกยกแรกการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรสุดท้ายไปตกที่คนกลางอย่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ สะท้อนภาพพรรคก้าวไกลยอมถอย แม้จะเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่เพื่อต้องการรักษาเอกภาพในการเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่กว่า คือ การสนับสนุนนายพิธา ลิ้นเจริญรัตน์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างให้ ส.ว.ได้เห็น
แน่นอนว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ความชอบธรรรมตกเป็นของนายพิธา ในฐานะตัวแทนของพรรคอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าตลอดทางจะมีการคิดสูตรต่างๆมากมาย ทั้งการพลิกขั้วตั้งรัฐบาล หรือ พรรคเพื่อไทยขอชิงนายกฯเองหากดันนายพิธาไม่ถึงฝั่ง แต่ทั้งหมดกระบวนการจะเริ่มนับหนึ่งในวันที่ 13 ก.ค.ตามที่ประธานสภาฯ วางกรอบเอาไว้
โจทย์หลักของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ การที่ได้คะแนน 376 เสียงจากที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส.และส.ว.) ถึงจะส่งนายพิธาเข้าสู่ทำเนียบได้ เป็นโจทย์หินที่ต้องฝ่าด่านส.ว. 250 เสียงไปได้
ดังนั้น การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จึงมีมุมมองฉากทัศน์ออกมาเป็น 3 รูปแบบ คือ
– การประชุมร่วม 2 สภาฯ (นัดแรก) หากนายพิธา ได้รับเสียงโหวตจาก ส.ส.- ส.ว. รวมกันได้มากกว่า 376 เสียงจาก 750 เสียง นายพิธาจะได้เป็นนายกฯ และเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนใหม่ตามฉันทามติได้
หรืออาจต้องจับตาไปที่เสียงของพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยว่า จะร่วมยกมือโหวตสนับสนุนนายพิธา หรือไม่ เพราะหากได้เสียงจาก 2 พรรคอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงส.ว.แล้วก็ได้
– หากไม่เป็นไปตามแนวทางแรก ยังมีโอกาสให้เสนอแคนดิเดทคนเดิมได้ แต่หากเลือกนายกฯ 2-3 ครั้งแล้ว ส.ว.ยังไม่ยกมือโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ หรืองดออกเสียงทั้งหมด จะเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคลำดับที่สองขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยยังมีพรรคก้าวไกลร่วมเป็นรัฐบาล โดยเงื่อนไขนี้ เชื่อว่าจะมี ส.ว.โหวตสนับสนุน หรืออาจจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใทยสนับสนุน
– อีกหนึ่งแนวทางที่มองกันไว้ว่า มีความเป็นไปได้ คือ ขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจับมือ ส.ว. เสนอชื่อพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลเสียงข้างน้อย
โดย 2 สภาฯ ได้วางกรอบรอบแรก วันที่ 13 ก.ค.66 หากยังโหวตและคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ จะกำหนดให้รอบที่สอง เป็นวันที่ 19 ก.ค.66 และหากยังไม่ได้อีก ได้วางกรอบรอบที่ 3 ในวันที่ 20 ก.ค.66 และมองว่า กรอบเวลา 3 วันนั้นจะเพียงพอที่จะได้นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
สุดท้ายแล้ว ผลการโหวตนายกรัฐมนตรีจะจบอย่างไร จะออก “หัว” หรือ “ก้อย” ต้องตามดูแบบไม่กระพริบตากันเลยทีเดียว
สำหรับพรรคที่มีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดทนายกฯ หากดูจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา มี 6 พรรคการเมือง รวม 9 คน คือ
พรรคก้าวไกล 1 คน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พรรคเพื่อไทย 3 คน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติสิริ
พรรคภูมิใจไทย 1 คน นายอนุทิน ชาญวีรกูล
พรรคพลังประชารัฐ 1 คน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด พบว่า ชาวโซเชียลได้มีการโพสต์และทวิตข้อความเกี่ยวกับบรรดาแคนดิเดทนายกฯ โดยจำนวนการกล่าวถึงและการมีส่วนร่วม หรือ Buzz (มาจากการกล่าวถึง (Mention) รวมกับการมีส่วนร่วม (Engagement)) กล่าวถึงถึงนายพิธา จากพรรคก้าวไกล สูงเป็นอันดับหนึ่งจากทุกช่องทาง 8,337,117 ทั้งจากเฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก ยูทูบ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์
นับถอยหลังโหวตนายพิ ทุกฝ่ายต่างจับจ้องไปที่บรรดาส.ว.ว่าจะมีท่าทีในเรื่องนี้อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ทางน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาระบุว่า ขณะนี้ได้เสียงครบแล้ว “อินโฟเควสท์” ได้รวบรวม ส.ว. ที่มีแนวโน้มที่จะโหวตให้นายพิธา ได้แก่
1.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
2.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล
3.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
4.นายตวง อันทะไชย
5.นางทัศนา ยุวานนท์
6.นางประภาศรี สุฉันทบุตร
7.นายประมาณ สว่างญาติ
8.นางประยูร เหล่าสายเชื้อ
9.นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
10.นายพีระศักดิ์ พอจิต
11.น.ส.ภัทรา วรามิตร
12.นายมณเฑียร บุญตัน
13.นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล
14.นายวันชัย สอนศิริ
15.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
16.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
17.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
18.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
19.นายพิศาล มาณวพัฒน์
20.นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน
21.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ทั้งนี้ 7 ใน 21 ส.ว.ยืนยันย้ำโหวตหนุน “พิธา” แน่ๆ ตามหลักการเสียงข้างมากจากประชาชน ได้แก่ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, นพ.อำพล จินดาวัฒนะ, นายวันชัย สอนศิริ, นางประภาศรี สุฉันทบุตร, นางประยูร เหล่าสายเชื้อ, นายพีระศักดิ์ พอจิต
แต่ล่าสุดการประกาศวางมือทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เสียงส.ว.ฝั่งพล.อ.ประยุทธ์ ที่มีกว่า 100 เสียง จะไปตกอยู่ฝั่งไหน หากดูแนวร่วมพรรคอนุรักษ์นิยมที่เหลือ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี จึงเหลือเพียง พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายจุรินทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้น
หากผนวกข่าวลือก่อนหน้าเรื่องดีลลับก่อนหน้านี้ที่มีการเจรจากันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ บนเงื่อนไขกลับบ้านของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่ส้มจะหล่นทับ พล.อ.ประวิตร และก็น่าจะเป็นเหตุของการที่ไม่ได้สกัดนายพิธาให้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่สกัดพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน….ทั้งหมดจึงจะสมประโยชน์กันทุกฝ่ายหรือไม่?
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 66)
Tags: PoliticalView, SCOOP, การเมือง, นายกรัฐมนตรี, ประธานสภา, พรรคประชาชาติ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, วันมูหะมัดนอร์ มะทา, ส.ว., ส.ส., สภาผู้แทนราษฎร