นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำว่า แม้ปัจจุบัน ประเทศไทยจะเข้าสู่เข้าสู่สภาวะเอลนีโญแล้ว แต่บางพื้นที่ยังคงมีแนวโน้มของปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. จึงมีข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัย และสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง โดยได้กำชับให้ สทนช.บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ เร่งแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา กอนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด มีพื้นที่ประสบอุกทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน ร้อยเอ็ด ภูเก็ต ตรัง และสตูล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งให้ความช่วยเหลือตามข้อสั่งการรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างวันที่ 15-19 ก.ค.66 มีโอกาสที่ฝนตกจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน บริเวณชายขอบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน และจะมีการใช้ข้อมูลคาดการณ์ฝนในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ เพื่อพิจารณาออกประกาศแจ้งเตือนต่อไป
นายสุรสีห์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ 24% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากในระยะนี้ มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในบางพื้นที่ แต่เป็นลักษณะของน้ำท่วมขังในระยะเวลาไม่นานนัก และจากการประเมินสถานการณ์ฝน ONE MAP เบื้องต้น คาดว่าเดือน ส.ค.จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนมากกว่าค่าปกติ 3% มีแนวโน้มปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น บริเวณภาคเหนือฝั่งตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออก ในส่วนพื้นที่ตอนกลางยังคงมีโอกาสเกิดฝนน้อย
ขณะที่เดือน ก.ย. คาดว่าจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8% โดยมีปริมาณฝนลดลงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมถึงภาคกลางที่ยังมีฝนน้อย ประกอบกับได้มีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA พบว่า ในช่วงตอนกลางของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ในพื้นที่ จ.สระแก้ว มีความเสี่ยงในการเกิดความแห้งแล้งค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ บริเวณตอนกลางของประเทศ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดภัยแล้งมากที่สุด
ปัจจุบัน มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง คือ ภาคเหนือ 2 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์ และบึงบอระเพ็ด ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง คือ เขื่อนจุฬาภรณ์ และภาคตะวันตก 1 แห่ง คือ เขื่อนปราณบุรี ซึ่งโดยปกติแล้วแหล่งน้ำในภาคตะวันตกจะสามารถช่วยเหลือในเรื่องการผลักดันน้ำเค็มของภาคกลาง และใช้เป็นน้ำต้นทุนผลิตประปาของกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำอื่นๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยเช่นกัน เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนวชิราลงกรณ ฯลฯ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรณรงค์ให้ประชาชนมีการใช้น้ำอย่างประหยัด รวมถึงต้องเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย 2 แห่ง คือ ภาคเหนือ 1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำและดูแลความปลอดภัยของเขื่อนอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนด้านท้ายน้ำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 66)
Tags: กอนช., สถานการณ์น้ำ, สุรสีห์ กิตติมณฑล, เอลนีโญ