สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาออกโรงเตือนเมื่อวันอาทิตย์ (9 ก.ค.) ให้ยูเครนหลีกเลี่ยงการใช้คลัสเตอร์บอมบ์ (cluster bomb) หรือระเบิดลูกปราย หลังสหรัฐประกาศส่งระเบิดลูกปรายให้ยูเครนใช้ต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย โดยปัจจุบันกัมพูชายังคงต้องต่อสู้กับเศษซากจากสงคราม
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กลุ่มนักมนุษยธรรมได้ออกมาประณามการตัดสินใจของสหรัฐในการจัดหาระเบิดลูกปรายให้ยูเครน เนื่องจากระเบิดชนิดดังกล่าวอาจไม่ระเบิดในทันทีและกลายเป็นภัยต่อพลเรือนในอีกหลายปีข้างหน้า
สมเด็จฮุนเซนโพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “การใช้ระเบิดลูกปรายในพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองในดินแดนของยูเครนจะสร้างภัยอันตรายใหญ่หลวงที่สุดสำหรับชาวยูเครนในอีกหลายปี หรือหลายร้อยปีข้างหน้า”
นอกจากนี้ สมเด็จฮุนเซนยังได้กล่าวถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดของกัมพูชาจากกรณีที่สหรัฐทิ้งระเบิดลูกปรายในกัมพูชาเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งทำให้ผู้คนนับหมื่นพิการหรือเสียชีวิต
สมเด็จฮุนเซนระบุว่า “เวลาล่วงเลยมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ยังไม่มีวิธีใดที่จะทำลายระเบิดในกัมพูชาได้หมด” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ผมสงสารชาวยูเครน ดังนั้นผมขอร้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐในฐานะผู้จัดหา และประธานาธิบดีสหรัฐในฐานะผู้รับ อย่าใช้ระเบิดลูกปรายในสงครามครั้งนี้ เพราะเหยื่อที่แท้จริงก็คือชาวยูเครนเอง”
รายงานระบุว่า สหรัฐได้รับการยืนยันจากยูเครนว่าจะพยายามลดความเสี่ยงของระเบิดลูกปรายต่อพลเรือน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐยอมรับว่าการส่งมอบระเบิดลูกปรายให้ยูเครนถือเป็น “การตัดสินใจที่ยากลำบาก”
สหรัฐได้ทำการทิ้งระเบิดหลายล้านลูกใส่กัมพูชาและลาวในช่วงสงครามเวียดนามในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เพื่อโจมตีฐานของพรรคคอมมิวนิสต์
หลังจากสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานถึง 30 ปีซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2541 กัมพูชาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกับระเบิดจำนวนมากที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ผลกระทบจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐและกับระเบิดที่หลงเหลือจากความขัดแย้งส่งผลต่อเนื่องอย่างยาวนาน โดยชาวกัมพูชาราว 20,000 รายต้องเสียชีวิตในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากเหยียบกับระเบิดหรืออาวุธที่ยังไม่ระเบิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 66)
Tags: cluster bomb, กัมพูชา, ยูเครน, ระเบิดลูกปราย, สมเด็จฮุนเซน, สหรัฐ